การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตระหว่างประเทศสมาชิก ด้วยเป้าหมายสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย (High Impact Sectors)
ทั้งนี้เพื่อศึกษานโยบายและมาตรการตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่มีต่อผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ทั้งในด้านเศรษฐกิจมหภาค และต่อผู้ประกอบการ รวมทั้งแรงงานใน SMEs โดยมุ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
การศึกษาครั้งนี้ได้คัดเลือก 6 กลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่มห่ม และกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งผลที่ได้จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการระบุผลกระทบและกำหนดหุ้นส่วนทางกลยุทธ์ (Strategic Partners) เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้น โดยผลการศึกษาสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
***กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล***
เป็นอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ของประเทศ จากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 267,040.49 ล้านบาท การส่งออก 165,641.09 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 64,241.68 ล้านบาท ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ คือเหล็ก อุตสาหกรรมกลางน้ำ คือชิ้นส่วนเครื่องจักร และอุตสาหกรรมปลายน้ำ คือเครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องมือกล ดังนี้
ผลกระทบในด้านบวก ประเทศไทยได้เปรียบด้านแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องมือกล โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากการลอกเลียนของเดิม (Reverse Engineering) สามารถส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ ไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ได้มากขึ้น และสามารถใช้ประเทศกลุ่ม CLMV เป็นฐานการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ขณะที่ความต้องการเครื่องจักรกลในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป และอาหาร โดยเฉพาะเครื่องจักรประเภทเครื่องปิดฉลาก เครื่องปิดผนึก ฯลฯ
ผลกระทบด้านลบ ผู้ประกอบการในกลุ่มอาเซียนสามารถเข้าถึงวัตถุดิบที่มีราคาถูกลงเนื่องจากการยกเลิกภาษีนำเข้า ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูง เพราะการเข้าสู่ AEC ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กของไทย เนื่องจากรัฐบาลยังมีนโยบายคุ้มครองอุตสาหกรรมต้นน้ำ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าจากสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีศักยภาพสูงในการผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม จะมีราคาต่ำลงและบุกตลาดไทยมากขึ้น นอกจากนี้อาจมีการย้ายฐานการผลิตเครื่องจักรในไทย
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรพิจารณาและทบทวนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และควรส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำคุณภาพ เพื่อทดแทนการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการผลิตที่สูงขึ้น
***กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร***
เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญและมีศักยภาพทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่การผลิตอุตสาหกรรมอาหารมีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั้งในอาเซียนและในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 120,838.04 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 92,638.47 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 64,438.90 ล้านบาท นับว่าได้เปรียบดุลการค้าเป็นอันดับที่ 2 ในตลาดอาเซียน และเป็นอันดับต้นๆ ในตลาดโลก แต่แม้ว่าประเทศไทยจะมีความสามารถในด้านการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร และมีอุตสาหกรรมสนับสนุนครบทุกส่วนตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (ภาคการเกษตร ประมง) อุตสาหกรรมกลางน้ำ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
ผลกระทบด้านบวก จะเป็นการเร่งให้เกิดโอกาสขนาดใหญ่ต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย เห็นได้จากการเปิดเสรีสินค้าประเภทอาหารที่มีการลดภาษีเป็นศูนย์นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้สินค้าอาหารของไทยมีดัชนีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยผู้ประกอบการสามารถแสวงหาวัตถุดิบจากแหล่งใหม่ๆ รวมถึงสามารถขยายฐานการลงทุนและฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบ แรงงานและการขนส่งได้
ผลกระทบด้านลบ ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานเนื่องจากโอกาสทางการค้าและการลงทุนของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานกลับไปทำงานในประเทศของตน และผลจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี อาจทำให้ผู้ประกอบการถูกครอบงำจากนักลงทุนต่างชาติกลายเป็นผู้รับจ้างผลิตมากกว่าเป็นเจ้าของกิจการ
ข้อเสนอแนะ ประเทศไทยควรกำหนดตำแหน่งทางการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการเป็นผู้ผลิตสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าหลายขั้นตอนเพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณค่าและราคาสูงขึ้น ในส่วนของผู้ประกอบการ ควรพัฒนาความหลากหลายของผลผลิต โดยมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นและมีความแตกต่าง มีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรที่ใช้การผลิตทดแทนแรงงานคน และควรสร้างตราสินค้าในผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรรวมตัวกันในรูปแบบสถาบันและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และสร้างอำนาจต่อรองทั้งด้านการค้าและการกำหนดราคา รวมถึงพัฒนากลุ่มให้เกิดความเข้มแข็ง
***กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง***
เป็นอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีโลก เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมยาง และมีศักยภาพในการผลิตยางแปรรูปอย่างครบวงจร ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่า มีมูลค่าการค้า 53,656.26 ล้านบาท การส่งออก 48,680.68 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 43,705.07 ล้านบาท ที่สำคัญเป็นอุตสาหกรรมมีค่าเฉลี่ยดัชนีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบสินค้าส่งออก (RCA) สูงถึง 5.47 แสดงถึงโอกาสจากการเปิดข้อตกลงเขตการค้าเสรี เพราะไทยมีความครบวงจรในรูปแบบของความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบและศักยภาพของผู้ประกอบการ รวมทั้งมีบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลกหลายรายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
ผลกระทบด้านบวก หาก AEC มีการขยายกรอบความร่วมมือครอบคลุมแรงงานกรีดยาง จะช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานกรีดยางและส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงานกรีดยาง ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้นสามารถส่งออกไปยังตลาดอาเซียนได้ในปริมาณที่มากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางจากประเทศไทยมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นในการขยายตลาดไปในประเทศอาเซียน ผลจากสิทธิพิเศษทางภาษี
ผลกระทบด้านลบ ผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้นจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานร่วมกันในการยอมรับ (MRA) ของอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบการบางกลุ่มอาจเผชิญการแข่งขันที่มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มถุงมือยาง นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยอาจเสียเปรียบผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่มีทักษะความรู้ด้านการใช้สิทธิพิเศษทางภาษี เช่น กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (ROO) รวมถึงการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ Form D
ข้อเสนอแนะ ควรมีการบริหารจัดการปริมาณน้ำยางสดร่วมกับประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาวัตถุดิบและปริมาณ พัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพในการแข่งขันในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs
***กลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก***
เป็นอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป็นวัตถุดิบ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 77,645.41 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 46,549.80 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 15,454.19 ล้านบาท ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก บริการด้านการวิจัยและพัฒนาแรงงานที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เพื่อใช้เป็นฐานขยายการผลิต และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น ฯลฯ
ผลกระทบด้านลบ ไทยจะขาดแคลนแรงงานฝีมือและบุคลากร เช่น วิศวกรเคมี และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา เนื่องจากย้ายไปทำงานในประเทศที่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่สูงกว่า เสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้สินค้าราคาถูกและสินค้าด้อยคุณภาพ นอกจากนี้ สินค้าในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากประเทศอื่นๆ จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรสนับสนุนการหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาถูกจากแหล่งใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน แก้ไขปัญหาในการนำเข้าวัตถุดิบที่มีราคาสูง และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ นอกอาเซียน
***กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม***
เป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 50 ปี และผู้ประกอบการมีการรวมกลุ่ม ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นสมาคมอย่างเข้มแข็ง และเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทต่อการจ้างงานของประเทศ ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 37,166.58 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 28,766.15 ล้านบาท และได้ดุลการค้า 20,365.72 ล้านบาท ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลดังนี้
ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตลดลง ผลจากการนำเข้าเส้นใยจากอินโดนีเซียซึ่งมีราคาถูก สามารถส่งออกผ้าผืน รวมทั้งสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไปประเทศในกลุ่มอาเซียนเพิ่มขึ้น สามารถย้ายฐานการผลิตไปในกลุ่มประเทศที่มีแรงงานมากและค่าแรงต่ำได้ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น และได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ต่อเนื่องจากการเปิดเสรีทางด้านบริการ
ผลกระทบด้านลบ เกิดจากความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่จะส่งผลต่อการปรับตัวด้านต้นทุนการผลิต
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรหาช่องทางหรือเครือข่ายการติดต่อธุรกิจด้านเส้นใยและเส้นด้ายในประเทศอินโดนีเซีย ควรให้การสนับสนุนโครงการ ASEAN Competitiveness Enhancement (ACE) และ Source ASEAN Full Service Alliance (SAFSA) รวมทั้งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสิ่งทอ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มขยายการลงทุนไปในประเทศ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา
***กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ***
เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศในลำดับต้นๆ เนื่องจากคุณภาพของสินค้าได้รับการยอมรับในระดับโลก ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งจากตัวเลขการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน ค่าเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2544-2553) พบว่ามีมูลค่าการค้า 9,705.5 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกเพียง 2,874.80 ล้านบาท และเสียเปรียบดุลการค้ามาโดยตลอดอยู่ที่ -3,955.90 ล้านบาท แต่นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ซึ่งการเข้าสู่ AEC จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมทั้งต้นน้ำ (การวิจัย พัฒนา และออกแบบ การทำเหมืองอัญมณี) อุตสาหกรรมกลางน้ำ (การปรับปรุงคุณภาพและเจียระไนอัญมณี) และอุตสาหกรรมปลายน้ำ (การผลิตเครื่องประดับ) ดังนี้
ผลกระทบด้านบวก ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก บริการด้านการวิจัยและพัฒนา แรงงานที่มีต้นทุนต่ำ รวมถึงบริการด้านการตลาดและเงินทุน นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปลงทุนในอาเซียนโดยเฉพาะกลุ่ม CLMV ได้มากขึ้น และใช้เป็นทางผ่านในการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกประเทศอาเซียน รวมทั้งเป็นช่องทางในการส่งออกไปในกลุ่มอาเซียนและนอกกลุ่มมากขึ้น ฯลฯ
ผลกระทบด้านลบ ไทยจะขาดแคลนแรงงานฝีมือและบุคลากร เช่น นักออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับ ช่างเจียระไนอัญมณี ช่างเผา/หุงพลอย ฯลฯ เนื่องจากย้ายไปทำงานในประเทศที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า และอาจเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับสินค้าราคาถูกจากประเทศในกลุ่ม CLMV นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องจากประเทศต่างๆ จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด
ข้อเสนอแนะ รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาถูกจากแหล่งใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียน และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและการทำเหมืองอัญมณี รวมถึงการวิจัย พัฒนา การปรับปรุงคุณภาพ การเคลื่อนย้ายแรงงานที่จำเป็น รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ