xs
xsm
sm
md
lg

ภูมิคุ้มกันปาล์มน้ำมันไทยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2558

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต : ปาล์มน้ำมันของเกษตรกรไทย
โดย...อรัญญา ศรีวิโรจน์
ส่วนเศรษฐกิจภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ใกล้ถึงโค้งสุดท้ายแล้ว สำหรับปาล์มน้ำมันในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) หลายฝ่ายจึงมีความกังวลว่า ปาล์มน้ำมันมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรง หากไม่สามารถปรับตัวเพื่อแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียได้ เนื่องจากเราเป็นผู้ผลิตรายเล็ก มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ของโลกเท่านั้น และมีต้นทุนการปลูกปาล์มสูงกว่ามาเลเซียถึง 4 เท่า (การศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย)

ถึงแม้ว่าปาล์มน้ำมันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคเกษตรในปี 2554 ก็ตาม แต่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และพลังงานให้แก่ประเทศ อีกทั้งสร้างอาชีพแก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มของไทยกว่า 1.2 แสนครัวเรือน ที่ภาครัฐไม่ควรละเลยการดูแล

บทความนี้จึงขอเล่าถึงแนวทาง หรือมาตรการที่ภาครัฐได้วางไว้เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และให้ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมีระยะเวลาในการปรับตัว

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่าสินค้าปาล์มน้ำมันมีภาระผูกพันที่ไทยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของเวทีระดับโลก คือ องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) แต่เนื่องจาก WTO มีสมาชิกหลากหลายภูมิภาค การเจรจาจึงมีความคืบหน้าช้ามาก ประเทศสมาชิกในเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (ASEAN Free Trade Area) จึงหันไปใช้การเจรจาระหว่างกันเองมากขึ้น เรียกว่า FTA ทั้ง WTO และ FTA มีวัตถุประสงค์คล้ายกัน คือ การลดอุปสรรค และข้อกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะทางด้านภาษี ซึ่งภายใต้ข้อผูกพันของอาเซียนน้ำมันปาล์มไทยได้ทยอยลดภาษีนาเข้าจนเหลือร้อยละ 0 แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 และจะต้องทยอยลด เลิกมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีให้หมดไป เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรีเมื่อก้าวเข้าสู่ AEC ในปี 2558 จึงทาให้ทุกฝ่ายมีความกังวลเพิ่มขึ้น
ภาพจากอินเตอร์เน็ต
ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงผลกระทบดังกล่าวมาแต่ต้น ดังนั้น ในปี 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดตั้งกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หรือเรียกย่อๆ ว่ากองทุน FTA เพื่อเสริมสร้างเกษตรกรไทยรับมือ AEC โดยการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งให้ความรู้ ฝึกอบรม ดูงาน ฯลฯ ซึ่งผลการดำเนินงานในส่วนของปาล์มน้ามันที่ผ่านมาของเกษตรกรกว่า 20,000 รายที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ปี 2549-2553 สามารถลดต้นทุนการผลิตจาก 1,715 บาทต่อตัน เหลือ 1,340 บาทต่อตัน หรือลดลง 375 บาทต่อตัน และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 2.430 ตันต่อไร่ เป็น 3.240 ตันต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 0.810 ตันต่อไร่

ต่อมา ในปี 2550 ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ปี 2551-2555 โดยเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกใหม่ปีละ 5 แสนไร่ ปลูกทดแทนสวนเก่าด้วยปาล์มพันธุ์ดีปีละ 1 แสนไร่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ 3.5 ตันต่อไร่ต่อปี อัตราการให้น้ามันจากร้อยละ 17 เพิ่มเป็นร้อยละ 18 และเพื่อสนับสนุนแผนดังกล่าว ในปี 2554 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทาโครงการปลูกปาล์มน้ามันพันธุ์ดีทดแทนสวนเก่าเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า AFTA ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร สตูล และตรัง พื้นที่ 30,000 ไร่ ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ ปี 2554-2556

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก ได้แก่
1) มาตรการด้านการบริหารการนำเข้าที่กำหนดให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้าเท่านั้น โดยการกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะให้นำเข้าเฉพาะกรณีขาดแคลนน้ำมันปาล์มบริโภค และได้จัดทำระบบติดตามการนำเข้าตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
2) การใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure) กรณีที่การเปิดเสรีก่อให้เกิดการนำเข้ามากจนกระทบต่อผู้ผลิต เราสามารถใช้มาตรการปกป้องพิเศษ ซึ่งเป็นมาตรการปกป้องที่กำหนดขึ้นมาเฉพาะใช้กับสินค้าเกษตร (Special Safeguard) ที่ผูกพันไว้กับ WTO

การนำเข้าอีกกรณีเป็นการนำเข้าตามกฎเกณฑ์ของ WTO ที่กำหนดให้นำเข้าได้ ซึ่งมีอัตราภาษีสูงถึงร้อยละ 143 แต่ผู้นำเข้าต้องซื้อผลผลิตในประเทศด้วย 1 ส่วน และต้องส่งออกรวม 2 ส่วน ภายใน 30 วัน จึงจะขอคืนภาษีได้

ดังนั้น ในปี 2558 เราคลายกังวลได้ระดับหนึ่งว่า น้ำมันปาล์มจากคู่แข่งจะไม่สามารถไหลทะลักเข้ามาได้ง่ายนัก เนื่องจากจะต้องผ่านปราการป้องกันดังกล่าว อีกทั้งพิธีปฏิบัติ และรายละเอียดที่ภาครัฐกำหนดไว้ เช่น มาตรฐานด้านสุขอนามัย การกำหนดปริมาณสารพิษตกค้าง การตรวจเข้มเรื่องการเลี่ยงแหล่งกำเนิดสินค้า ฯลฯ ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนต่างก็นำกลยุทธ์มาใช้สาหรับสินค้าอ่อนไหว เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของตนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรดูแลตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันมิให้มีการรั่วไหล หรือนำมาหมุนเวียนจำหน่ายในประเทศ คือ การนำเข้าตามกฎเกณฑ์ของ WTO ดังกล่าวข้างต้น และการขนย้ายน้ำมันปาล์มของมาเลเซียผ่านไทยไปจำหน่ายที่พม่า และลาวโดยการผ่านแดน และถ่ายลำ
ภาพจากอินเตอร์เน็ต : ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกลายเป็นทำเลทองของนักลงทุนต่างชาติ แม้แต่บริษัทลูกของ ปตท.ก็เข้าไปซื้อกิจการสวนปาล์มด้วย
ทั้งนี้ มาตรการ หรือกฎระเบียบต่างๆ ที่ปกป้องผลประโยชน์ในประเทศจะสามารถยื้อเวลาได้นานเท่าไร และข้อตกลงในอาเซียนจะทลายกำแพงเหล่านี้ให้หมดไปเมื่อไหร่ ยังไม่มีเวลาที่ชัดเจน เวลาที่เหลืออยู่เราควรสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่งไว้ วัคซีนที่ดีที่สุดคือ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพื่อลดต้นทุน โดยภาครัฐควรสร้างความรู้เชิงรุกแก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

รวมทั้งการกำกับดูแลลานเท และโรงงานสกัดให้รับซื้อผลปาล์มที่มีคุณภาพเท่านั้น น่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ส่วนเกษตรกรควรปรับตัวจนสามารถยืนได้ด้วยตนเอง ด้วยการรวมตัวในรูปแบบสหกรณ์ของเกษตรกรรายย่อย หรือการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีร่วมกันก็สามารถลดต้นทุนได้ระดับหนึ่ง ระยะยาวหากไม่สามารถลดต้นทุนให้ต่ำกว่า หรือเทียบเท่าคู่แข่งได้ อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของอุตสาหกรรม หรือสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบด้วยเศรษฐกิจอาเซียน 2558

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น