AREA เผยผลสำรวจโครงการอสังหาฯ ขายดี ราคาขึ้นพบทาวน์เฮาส์ 2.49 ล้านย่านศรีนครินทร์-เทพารักษ์ 6 เดือนราคาพุ่งสูงสุด 14.5% ขณะที่บ้านเดี่ยว 2.19 ล้านย่านคลองหลวง-บางขัน ราคาตกมากสุด 14.4%
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA เปิดเผยถึงผลสำรวจการเปลี่ยนแปลงราคาขายในโครงการจัดสรรที่กำลังขายอยู่จำนวน 1,300 โครงการ พบว่า มีที่อยู่อาศัยบางกลุ่มขายดี ราคาเพิ่มขึ้น และที่อยู่อาศัยบางกลุ่มขายไม่ดี ราคาลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของผู้ประกอบการในการเลือกพัฒนา เพื่อประโยชน์ของนักลงทุน และผู้ซื้อบ้านในการเลือกซื้ออย่างชาญฉลาด
สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัยที่มีราคาเพิ่มขึ้นในรอบ 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน 2555) ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ทาวน์เฮาส์ ราคาประมาณ 2.49 ล้านบาท ในย่านถนนศรีนครินทร์-เทพารักษ์ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาขายเพิ่มเป็น 2.85 ล้านบาท หรือ 14.5% ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มที่เพิ่มสูงสุด นับว่ามีความต้องการ หรืออุปสงค์อยู่สูงมาก
2.บ้านแฝด ราคา 2.272 ล้านบาท ย่านเอกชัย-บางบอน ปัจจุบัน ราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2.548 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12.1% 3.ทาวน์เฮาส์ ราคา 1.69 ล้านบาท ย่านเจ้าคุณทหาร ปัจจุบัน เพิ่มราคาเป็น 1.89 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.8% 4.บ้านเดี่ยวราคา 3.3 ล้านบาท ย่านฉลองกรุง ปัจจุบัน ปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็น 3.69 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.8% เช่นกัน 5.ห้องชุดราคา 0.7 ล้านบาท ย่านถนนเทพลีลา-มหาดไทย ปรับเพิ่มราคาเป็น 0.77 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.0%
จะสังเกตได้ว่า ประเภทบ้าน ณ ระดับราคา และ ณ ทำเลที่ตั้งทั้ง 5 กลุ่มข้างต้นมีศักยภาพดี ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลตามสภาพ เช่น ห้องชุดก็อยู่แถวมหาดไทย ทาวน์เฮาส์ ก็อยู่แถวเทพารักษ์ และบ้านเดี่ยวก็อยู่แถวฉลองกรุง เป็นต้น กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ตั้งราคาได้สมเหตุสมผล และทำเลดีเหล่านี้จึงมีราคาเพิ่มขึ้น
ในทางตรงกันข้ามพบว่า กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ราคาตกต่ำลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ 1.บ้านเดี่ยวราคา 2.19 ล้านบาท ในย่านคลองหลวง-บางขัน ปรับตัวลดลงมาเหลือ 1.875 ล้านบาท หรือลดลง 14.4% แล้ว แสดงถึงความต้องการที่ถดถอยลงนั่นเอง 2.ตึกแถวราคา 4.0 ล้านบาท แถวนิมิตใหม่ ปรากฏว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ราคาลดลงเหลือ 3.5 ล้านบาท หรือลดลง 12.5% 3.บ้านเดี่ยวราคา 3.4 ล้านบาท ย่านสามโคก-เสนา ราคากลับลดลงเหลือเพียง 3.006 ล้านบาท หรือลดลงเท่ากับ 11.6% 4.บ้านเดี่ยวราคา 12.583 ล้านบาท ในย่านนวมินทร์ ราคาปรับลดลงเหลือ 11.387 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หรือลดลง 9.5% ซึ่งคงเป็นเพราะราคาแพงเกินไปสำหรับย่านนี้ 5.ห้องชุดราคา 0.812 ล้านบาท แถวอ้อมน้อย ราคาลดเหลือ 0.748 ล้านบาท หรือลดลง 7.8% ซึ่งคงเป็นเพราะแถวนั้นมีอุปทานเก่าราคาถูกเหลืออยู่มาก
ดร.โสภณ กล่าวต่อว่า สินค้าที่ขายดี ราคาเพิ่ม และมีความต้องการนี้ ผู้ประกอบการสมควรพัฒนาต่อ แต่ต้องระวังการล้นตลาด ส่วนสินค้าที่ราคาตกควรได้รับการหลีกเลี่ยง เพราะแสดงถึงอุปสงค์ที่จำกัดนั่นเอง จะสังเกตได้ว่า บริเวณใดตั้งราคาสินค้าสูงเกินจริง และขายสินค้าที่ผิดจากความต้องการของผู้บริโภค ก็จะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ดังนั้น โครงการต่างๆ จึงควรทำการศึกษาวิเคราะห์ตลาดก่อนการวางแผนพัฒนาโครงการ และแม้ในระหว่างการพัฒนาโครงการก็ยังต้องทำการสำรวจต่อเนื่องเพื่อประกันว่า โครงการของตนได้ “เดินมาถูกทางแล้ว” นั่นเอง
เผยสยาม-ชิดลม-เพลินจิตครองแชมป์ที่ดินแพง
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยฯ ยังได้รวบรวมผลการสำรวจการเปลี่ยนราคาที่ดินนับจาก พ.ศ.2528-2555 พบว่า ในช่วง พ.ศ.2528 ถึง 2555 มีการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยราคาที่ดินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2528-2534 และชะลอตัวในช่วง พ.ศ.2535-2539 หลังจากนั้นราคาที่ดินก็ตกต่ำลงในช่วงปี 2540-2542 และกลับฟื้นตัวอีกในช่วงปี 2543-2548 จากนั้นก็ชะลอตัวลง จนมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2553 ต่อเนื่องถึงปี 2555
ผลการศึกษาในปี 2554 พบว่า แปลงที่ดินที่มีราคาตลาดสูงสุดคือ บริเวณสยามพารากอน สยามสแควร์ บริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าชิดลม และบริเวณใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพลินจิต ตามแนวดังกล่าวนี้ ราคาที่ดินที่ประเมินได้เป็นเงิน 1.4 ล้านบาทต่อตารางวา หรือไร่ละ 560 ล้านบาท คาดว่าในปี 2555 ราคาที่ดินบริเวณนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาทต่อตารางวา
หากเทียบกับปี 2553 ราคาที่ดินบริเวณนี้ได้รับการประเมินไว้เป็นเงิน 1.2 ล้านบาทต่อตารางวา นับว่าเพิ่มขึ้นถึง 17% ภายในเวลา 1 ปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นับเท่าตัว สาเหตุที่ราคาที่ดินในย่านใจกลางเมืองแพง และเพิ่มสูงขึ้นมาก ก็เพราะการมีรถไฟฟ้าใจกลางเมือง โดยเฉพาะบริเวณสยามสแควร์ เป็นจุดเชื่อมรถไฟฟ้าสองสาย จึงทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างต่อเนื่อง ที่ดินที่มีราคาสูงรองๆ ลงมาได้แก่ ที่ดินติดถนนวิทยุ ถนนสีลม และติดถนนราชดำริ ตรงบริเวณสถานีรถไฟฟ้า มีราคาเป็นเงินตารางวาละ 1.1 ล้านบาท ส่วนที่ดินติดถนนสุขุมวิทช่วงต้น เช่น บริเวณอาคารไทม์สแควร์ และตลอดแนวถนนสาทร มีราคาตารางวาละ 1 ล้านบาท
สำหรับราคาที่ดินที่ถูกที่สุด ได้แก่บริเวณถนนเลียบคลอง 13 ตรงบริเวณ กม.5 ที่ดินขนาด 4 ไร่ มีราคาตารางวาละเพียง 2,600 บาท หรือไร่ละ 1.04 ล้านบาท ส่วนที่ดินขนาด 4 ไร่ที่อยู่ถนนบางไทรตรงข้ามศูนย์ศิลปาชีพ ราคาประมาณ 4,600 บาทต่อตารางวา หรือไร่ละ 1.84 ล้านบาท ทั้งนี้ เพราะมีข้อจำกัดในการก่อสร้างเพราะตั้งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์ศิลปาชีพ จะสังเกตได้ว่า ที่ดินชานเมืองที่ไม่ค่อยมีสาธารณูปโภค เช่น แถวเลียบคลอง 13, ลำต้อยติ่ง, รังสิต-วังน้อย และประชาสำราญ ราคากลับทรงหรือแทบไม่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ที่ดินในใจกลางเมือง ราคากลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริเวณใกล้แนวรถไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนบริเวณที่ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปีก็คือ แถวสยามสแควร์ที่แต่เดิมมีราคา 0.43 ล้านบาทต่อตารางวาในปี 2539 และเพิ่มเป็น 1.4 ล้านบาทต่อตารางวาในปี 2554 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าสีลม ซึ่งแต่เดิมมีราคาแพงที่สุด ทั้งนี้ เพราะสีลมเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งมักใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานมากกว่า ส่วนย่านสยาม ชิดลม และเพลินจิตมักใช้ที่ดินก่อสร้างศูนย์การค้า ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
ปี 2554 ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 4.0% เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ในปี 2553 ราคาที่ดินกลับเพิ่มสูงถึง 4.4% ทั้งนี้ สาเหตุที่ราคาเพิ่มขึ้นมากในปีก่อนก็เพราะการส่งออกดี ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดี จึงมีผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มาก ราคาที่ดินก็สูงขึ้น แม้จะมีวิกฤตทางการเมืองเมื่อเดือนพฤษภาคม หรือแม้แต่ดอกเบี้ย และภาษีอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นในปี 2553 ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดินเคยตกต่ำลงอย่างชัดเจนในปี 2540-2541 ถึง 12.6% และ 10.8% ตามลำดับ แต่หลังจากนั้นราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นจนสูงสุดต่อปีในปี 2548 และนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ราคาที่ดินก็ยังเพิ่ม แต่ ณ อัตราที่ลดลงตามลำดับ มาดีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในปี 2553
ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น บริเวณแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส แถวสยามสแควร์ ชิดลม และเพลินจิต ราคาเพิ่มขึ้น 16.7% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนตลอดสายของบีทีเอส ราคาเพิ่มขึ้น 128% ในรอบปี 2548-2554 หรือเฉลี่ยทั้งสายปีละ 21.3% โดยเฉพาะปี 2553-2554 ราคาเพิ่มขึ้นทั้งสายประมาณ 11.7% ส่วนต่อขยายก็เพิ่มขึ้น เช่น แบริ่ง เพิ่มถึง 14.8% บางหว้าเพิ่ม 12.6% ในรอบปีที่ผ่านมาเช่นกัน สำหรับที่ดินตามแนวรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ราคาก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 14.4%
นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลวิจัยฯ ยังได้จัดทำบทวิเคราะห์ความผันผวนของราคาที่ดินใจกลางเมือง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของทำเลราคาที่ดินที่แพงที่สุดในประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ได้แก่ บริเวณเยาวราช สีลม และสยามสแควร์ โดยในปี 2537 ที่ดินที่มีราคาแพงที่สุดในประเทศไทย ที่สมมติให้มีขนาด 4 ไร่ (หน้ากว้าง 40 เมตร ลึก 160 เมตร) คือที่บริเวณเยาวราช เป็นเงินตารางวาละ 700,000 บาท ที่ดินบริเวณสีลมที่มีราคา 450,000 บาทในปี 2537 มีราคาขยับสูงเท่ากับบริเวณเยาวราชในปี 2551 และราคากลับแซงหน้าในปีต่อๆ มา ส่วนบริเวณสยามสแควร์ ราคาแซงบริเวณเยาวราชตั้งแต่ปี 2549 และในปี 2554 มีราคาสูงที่สุดเป็นเงินถึง 1,400,000 บาทต่อตารางวา
การที่ราคาที่ดินบริเวณเยาวราชมีราคาสูงสุดที่สุดในปี 2537 เป็นเพราะว่าทำเลดังกล่าวเป็นแหล่งการค้าสำคัญ อาคารพาณิชย์ หรือตึกแถวสำหรับทำการค้ามีราคาสูงถึงคูหาละ 40-50 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริเวณดังกล่าวมีลักษณะถดถอยลงตามลำดับ ที่ดินที่มีมักเป็นแปลงเล็กๆ ไม่มีพื้นที่กว้างขวางสำหรับการพัฒนาอาคารขนาดใหญ่สมัยใหม่ ไม่มีระบบสาธารณูปโภค ยกเว้นในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งมีโอกาสที่ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
สำหรับบริเวณสีลม กลับมีการเติบโตที่เป็นศูนย์ธุรกิจการเงิน ราคาที่ดินจึงสูงขึ้นตามลำดับ ราคาในปี 2537 แม้จะประเมินตามราคาตลาดไว้ที่ 450,000 บาทต่อตารางวา ซึ่งต่ำกว่าบริเวณเยาวราชเกือบเท่าตัว แต่ก็ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วกว่า และแซงหน้าเยาวราชในปี 2552 และปัจจุบันอยู่ ณ ราคา 1,110,000 ล้านบาท
ส่วนที่บริเวณสยามสแควร์ มีราคาเพียง 400,000 บาท ในปี 2537 แต่เพิ่มเป็น 1.4 ล้านบาทในปี 2554 ทั้งนี้ เป็นเพราะศักยภาพในการพัฒนาที่ดินเป็นศูนย์การค้า เช่น สยามพารากอน และอื่นๆ ในบริเวณนั้น ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงานเช่นบริเวณสีลม
ในเชิงเปรียบเทียบของทั้ง 3 บริเวณ จะพบว่าในระหว่างปี 2537-2554 เป็นเวลา 17 ปี บริเวณเยาวราช ราคาเพิ่มขึ้นเพียง 1.15% ต่อปี ส่วนที่สีลม ราคาเพิ่มขึ้นปีละ 5.4% และที่สยามสแควร์ ราคาเพิ่มขึ้นถึง 7.65% อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2540-2542 ที่เศรษฐกิจประเทศไทยประสบปัญหา ทำให้ราคาที่ดินตกต่ำลง โดยที่ดินในบริเวณเยาวราช สีลม และสยามสแควร์ มีราคา 700,000, 450,000 และ 400,000 บาทต่อตารางวา ได้ลดลงเป็น 500,000, 420,000 และ 380,000 บาทต่อตารางวาในปี 2542 หรือลดลงไปถึง 28.57%, 6.7% และ 5% ตามลำดับ
หลังจากนั้น ราคาที่ดินก็เพิ่มขึ้นตามลำดับเป็น 4.52% 8.35% และ 11.48% ต่อปี ในบริเวณเยาวราช สีลม และสยามสแควร์ในช่วงปี 2542-2554 และเชื่อว่าจะไม่มีบริเวณใดในกรุงเทพมหานครที่จะมีราคาสูงทดแทนบริเวณสยามสแควร์ ชิดลม และเพลินจิตในปัจจุบันได้อีกต่อไป เพราะบริเวณนี้เป็นศูนย์ธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เปิด AEC อสังหาฯ นอกแห่ลงทุนไทย
สถานการณ์อสังหาริมทรัพย์ในระดับโลกยังมีความไม่แน่นอนพอสมควร อย่างกรณีสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาบ้านในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาเพิ่มขึ้น 3.7% โดยล่าสุด คือ เดือนพฤษภาคม ราคาเพิ่มขึ้น 0.8% แต่ราคานี้ยังเท่ากับราคาเมื่อเดือนเมษายน 2547 หรือเป็นราคาที่ยังต่ำกว่าราคาช่วงสูงสุดคือ เดือนเมษายน 2550 อยู่ที่ 17%
สำหรับประเทศในยุโรปตะวันตกรวมทั้งกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียยังกำลังต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจอย่างยิ่งยวด ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตัวแปรตามภาวะเศรษฐกิจจึงถดถอยไปด้วย อาจกล่าวได้ว่า มีเพียงประเทศเดียวที่คึกคักสดใสที่สุด คือ ประเทศรัสเซีย ตลาดยังคงคึกคักอีกนาน คล้ายญี่ปุ่นในยุค 30 ปีก่อน
จากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงราคาที่ดิน และที่อยู่อาศัยข้างต้น อาจมีความเป็นไปได้ว่า ที่ว่าจะนักลงทุนไทยหวังว่าจะไปลงทุนในอาเซียนนั้น ไม่แน่ว่านักลงทุนในอาเซียนอาจแห่มาลงทุนในไทยหลังเปิด AEC (ASEAN Economic Community) ในปี 2558 ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งอาเซียน ณ ประเทศบรูไน ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2555 จำนวนเกือบ 100 คนจากทั้งหมดเกือบ 200 คน
ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินในภูมิภาคนี้ให้ความเห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ.2557 ส่วนใหญ่ 67% บอกว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น มีเพียง 4% ที่คิดว่าจะเลวร้ายลง อย่างไรก็ตาม ผู้แทนจากประเทศไทยส่วนใหญ่เห็นว่าจะยังคงเหมือนเดิม ต่อกรณีตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ ณ พ.ศ.2557 พบว่าส่วนใหญ่ 66% จากแทบทุกประเทศระบุว่า สถานการณ์น่าจะดีกว่าปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากประเทศไทยยังเห็นว่าตลาดยังจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักใน 2 ปีข้างหน้า
ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการเปิดเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ในปี พ.ศ.2558 ปรากฏว่า 62% เห็นว่าน่าจะส่งผลในทางบวกต่อประเทศของตนเอง อย่างไรก็ตาม ไทย เวียดนามดูเหมือนจะมีความห่วงใยเช่นกันต่อการเข้ามาแข่งขันทางการบริการวิชาชีพจากประเทศอื่น และเมื่อถูกถามถึงความพร้อมในการรับมือกับการแข่งขันใน AEC ปรากฏว่า เวียดนามกลับมีความพร้อมที่สุดถึง 86% จาก 100% รองลงมาคื อมาเลเซีย ได้ 72% อันดับ 3 คือไทย 67% และอินโดนีเซีย 63% บรูไน และฟิลิปปินส์ ดูมีความพร้อมต่ำกว่าเพื่อนคือได้ 58% และ 57% ตามลำดับ
มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ประเทศเพื่อนบ้านจะกรีธาทัพเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ทั้งนี้ โดยพิจารณาจาก กรุงเทพมหานคร มีจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับกรุงจาการ์ตา กรุงพนมเปญ กรุงมะนิลา และนครโฮจิมินห์ นอกจากนั้น ในพื้นที่ตากอากาศเช่นพัทยา สมุย ภูเก็ต และหัวหิน ก็มีต่างชาติสนใจมาลงทุนเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ดร.โสภณ กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยคงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการถดถอยของประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเพราะมีประเทศรัสเซียที่มีเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องเข้ามาทดแทน นอกจากนี้จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ยิ่งจะทำให้ภูมิภาคนี้แข็งแกร่ง และทำให้ประเทศไทยมีแรงดึงดูดให้ต่างชาติมาลงทุนในประเทศไทยมากกว่าที่ไทยจะไปลงทุนในประเทศอาเซียน
ซึ่งภาคเศรษฐกิจ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังจะขยายตัวต่อไปในอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยที่จะทำให้เกิดภาวะพังทลายของตลาดอสังหาริมทรัพย์นั่นก็คือ การเกิดฟองสบู่ของการเปิดตัวโครงการจนมากมายเกินความต้องการ แต่กรณีนี้ยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพียงมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้สถาบันการเงินประเมินค่าทรัพย์สินเองโดยไม่ต้องใช้ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอิสระ และการที่สถาบันการเงินอำนวยสินเชื่อในราคาประเมินที่อาจจะสูงเกินจริงจนจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้
ในแง่หนึ่งสิ่งใหม่ก็ย่อมเกิดจากซากร่างของสิ่งเก่าในยามที่จะ “บูม” แต่มะเร็งร้ายก็กำลังก่อตัวจากภักษาหารของการเติบโตเช่นกัน โปรดสังวร