xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ “ไทย” ใน AEC มีดีแค่เปิดทางทุน ตปท.เข้า ส่วนภาษาและค่าแรงตกสำรวจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ชำแหละศักยภาพ “ไทย” ใน AEC พบน่าห่วงสุด เทียบเม็ดต่อเม็ดแล้วมีดีแค่ “ความสะดวกในการลงทุน” ที่ล่าสุดเปิดให้ทุน ตปท.ถือหุ้นในกิจการขนส่งได้ถึง 70% หรือเป็นเจ้าของได้แล้ว ส่วนเรื่องภาษา-ทรัพยากรธรรมชาติ-โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ตกสำรวจหมด แถมนโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวันกระหน่ำซ้ำ ทำ SMEs แบกเพิ่ม 2.7 หมื่นล้าน

วันนี้ (19 มิ.ย.) กรมส่งเสริมการส่งออกและศูนย์เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการสัมมนาแก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ภายใต้ชื่อ “เปิดโลกการค้ายุคใหม่สู่ AEC ฉบับ SMEs” ที่ห้องเรือนตุง โรงแรมอิมพิเรียล ริเวอร์เฮ้าส์ อ.เมืองเชียงราย

โดยมีนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด และมีวิทยากรที่ทรงคุณวุฒิร่วมขึ้นเวทีหลายคน ได้แก่ นายกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, Mr.Craig Anczelowitz นักออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับสากล, ดร.ชลฤทธิ์ เหลืองจินดา ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบมหาวิทยาลัยศิลปากร, ดร.สุเทพ นิ่มสาย ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

นายกรกฎกล่าวว่า ไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community) 10 ประเทศในปี 2558 เป็นต้นไป ซึ่งต่อไปการมองภาคเศรษฐกิจต้องมองเป็นองค์รวมไม่ใช่แค่ประเทศที่มีประชากร 64 ล้านคนอีกต่อไป แต่คือกลุ่มประเทศที่มีประชากรรวมกันกว่า 580 ล้านคน

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมอีก 6 ประเทศ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะทำให้มีประชากรรวมกันกว่า 3,300 ล้านคน หรือเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทีเดียว

กรณีของอีก 6 ประเทศก็สำคัญเช่นกัน เพราะทันทีที่กลุ่ม AEC ลดภาษีเป็น 0% ในปี 2558 ไทยก็จะลดภาษีกับออสเตรเลียเหลือ 0% ในสินค้าถึง 98% ของสินค้าทั้งหมด และค่อยๆ ทำกับประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย ในปี 2561 เป็นต้น

นายกรกฎกล่าวอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วภาคเอกชนต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ ขณะที่ภาครัฐจะเป็นฝ่ายสนับสนุน โดยเฉพาะด้านการออกกฎหมายรองรับภายในประเทศและเจรจากับต่างประเทศ เช่น ข้อตกลงอาเซียน-จีน ที่ให้รถบรรทุกเข้าออกผ่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ไปจีนตอนใต้ ซึ่งมีการค้าขายกันเป็นประจำได้ 500 คัน ซึ่งก็มีเพียงข้อตกลงกัน แต่สิ่งอำนวยความสะดวกและกฎระเบียบอื่นๆ ยังต้องดำเนินการต่อไป ทั้งเรื่องการประกันภัยและอื่นๆ เป็นต้น

รวมทั้งยังต้องดูเรื่องภาษีระหว่างประเทศ เพราะการลดภาษีเป็น 0% หรือ FTA (Free Trade Area) แท้ที่จริงเป็นเสรีหลอกตา เพราะยังมีเงื่อนไขอีกมากก่อนที่จะเอื้อให้สามารถทำการค้าการลงทุนให้สะดวก โดยเฉพาะแต่ละประเทศยังมีสินค้าอ่อนไหวสูง เช่น อินโดนีเซียกำหนดให้ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวสูง จึงให้ลดภาษีจากเดิม 30% เป็น 20% มาเลเซียลดจาก 40% เป็น 20% ส่วนฟิลิปปินส์ อยู่ระหว่างเจรจากับไทย หลังจากเดิมกำหนดจัดเก็บ 40% และกำหนดโควตานำเข้า 350,000 ตัน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของแต่ละประเทศอีกเป็นจำนวนมากด้วย

นายกรกฎกล่าวต่อว่า ด้านมาตรฐานสินค้าก็สำคัญ เช่น ปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์ตำรับยาพื้นบ้านของอินโดนีเซียจดทะเบียนสินค้ามากกว่าของไทยเสียอีก และถ้าเปิดตลาดกันก็จะมีสินค้าในทะเบียนของอินโดนีเซียอยู่เต็ม จึงจำเป็นที่ภาครัฐของไทยจะต้องเร่งดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะแย่หนัก

ด้านลอจิสติกส์ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง จากเดิมประเทศไทยเปิดให้คนไทยถือหุ้นในธุรกิจลอจิสติกส์ได้ 51% และต่างชาติ 49% แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนให้ต่างชาติถือหุ้นได้กว่า 70% ซึ่งตามหลักก็คือ เป็นเจ้าของธุรกิจที่ทำธุรกรรมต่างๆ ได้นั่นเอง ดังนั้น ลอจิสติกส์จึงเป็นธุรกิจของอาเซียนลำดับแรกๆ ไปแล้ว

“ส่วนอาชีพที่เกรงกันว่าจะเปิดเสรีกันหมดทั้ง AEC นั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะแท้ที่จริงเปิดเสรีแค่ 7 อาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ และนักบัญชี ซึ่งการจะทำงานข้ามประเทศก็ต้องมีการสอบกันด้วย โดยเฉพาะเรื่องภาษา และกรณีของไทยก็อาจจะยากขึ้นมาหน่อยเพราะต้องสอบได้ภาษาไทยด้วย" นายกรกฎ กล่าว

เขายังระบุถึงศักยภาพของแต่ละประเทศใน AEC ว่า ประเทศไทยถือว่าน่าเป็นห่วงและต้องปรับตัวยกใหญ่ เพราะเมื่อเทียบหลายๆ เรื่องถือว่าด้อยกว่าทุกประเทศ เช่น ภาษาที่ใช้สื่อสารโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ พบว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน มีศักยภาพมากที่สุด, ทรัพยากรพบว่า พม่ามีมากที่สุด, เทคโนโลยี สิงคโปร์มีมากที่สุด โครงสร้างพื้นฐาน สิงคโปร์ มาเลเซีย มีศักยภาพมากที่สุด, อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา มีมากที่สุด, ขนาดตลาดในประเทศ พบว่าฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม มีมากที่สุด, ต้นทุนการส่งออก พบว่าสิงคโปร์ และมาเลเซียมีมากที่สุด

ขณะที่ไทย มีเพียงความสะดวกในการตั้งธุรกิจเท่านั้นที่มีมาก แต่ก็อยู่ในระดับเดียวกับสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนความสะดวกในสินเชื่อและ SMEs ก็ยังสู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้เช่นกัน
รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวด้วยว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องศึกษาใน AEC ซึ่งที่ผ่านมาหลายฝ่ายอาจจะยังไม่รู้ เช่น ภาษาที่ใช้กันมากที่สุดในอาเซียนคือภาษาบาซา โดยใช้มากที่สุดในอินโดนีเซียที่มีประชากร 280 ล้านคน มาเลเซีย 40 ล้านคน และยังใช้ในสิงคโปร์ บรูไน และภาคใต้ของไทย ปัจจุบันประเทศเวียดนามเริ่มให้เรียนภาษานี้กันแล้ว

ส่วนการค้าการลงทุนก็พบว่าเริ่มเห็นผลบ้างแล้ว โดยพบว่ากลุ่มทุนของมาเลเซียเข้าไปลงทุนผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอในประเทศกัมพูชา โดยนำเข้าวัตถุดิบจากไทย หรือจีน และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออก เพราะที่กัมพูชามีต้นทุนค่าแรงต่ำแค่วันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 80 บาท ส่วนไทยกลับเพิ่มค่าแรงเป็นวันละ 300 บาทเสียอีก ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากนโยบายนี้คือกลุ่ม SMEs เพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้น 36,000 ล้านบาท กลุ่ม SMEs ต้องจ่ายถึง 27,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของกลุ่มทุนใหญ่



กำลังโหลดความคิดเห็น