xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจความพร้อม “เออีซี” ไม่ได้มีแต่ “ผลได้” ดังคำโฆษณา (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ประเทศไทยมีปัญหาขาดแคลน
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เปิดความลับเรื่องแรงงานกุญแจสำคัญดึงดูดนักลงทุนที่ AEC ไม่อยากพูดถึง เพราะทุกประเทศต่างมุ่งแข่ง “ค่าแรงถูก” ลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การลดระดับมาตรฐานและคุกคามสิทธิแรงงานอย่างกว้างขวาง มีการเลือกปฏิบัติระหว่างแรงงานมีฝีมือกับแรงงานส่วนใหญ่ที่มีทักษะต่ำ

การมุ่งหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC : ASEAN Economic Community) ที่จะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรีมากขึ้น เป็นโอกาสทองของนักลงทุนที่จะเคลื่อนย้ายฐานการผลิต โดยมีตลาดรองรับขนาดใหญ่กว่า 600 ล้านคน แต่สำหรับแรงงานส่วนใหญ่ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในประเภทแรงงานทักษะต่ำ ทว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการลงทุนที่ใช้แรงงานเข้มข้น กลับถูกละเลยไม่มีใครอยากพูดถึง คล้ายกับเป็นความลับที่เรามักจะไม่ได้ยิน 

“ACE กินได้? เห็นหัวผู้คน ประชาชนอยู่ตรงไหน?” ถ้าหากว่าคุณไม่ได้เป็นแรงงานมีฝีมือที่เป็นวิศวกร พยาบาล สถาปนิก ช่างสำรวจ แพทย์ ทันตแพทย์ และนักบัญชี ซึ่งอาเซียนอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีแล้ว โอกาสของแรงงานข้ามแดนที่นอกเหนือจาก 7 สาขาข้างต้นจะเป็นเช่นใด จะมีโอกาสมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะตลาดแรงงานที่เปิดกว้าง หรือถูกขูดรีดมากขึ้นกันแน่

ปรานม สมวงศ์ จาก ASEAN Watch สะท้อนความเป็นจริงของแรงงานในอาเซียนขณะนี้ว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราที่สูงของอาเซียน กลับล้มเหลวในการกระจายความมั่งคั่งนั้นสู่ชนบท ล้มเหลวในการสร้างระบบค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ ระบบประกันสังคมหรือการคุ้มครองทางสังคมที่เหลื่อมล้ำต่างไม่ครอบคลุมและทั่วถึงหรือไม่มีเลย 

ที่น่าอัศจรรย์ก็คือ มีผู้คนมากถึง 28.8 ล้านคนที่ต้องอาศัยอยู่โดยมีรายได้น้อยกว่า 30 บาทต่อวัน และผู้คน 168 ล้านคนมีรายได้น้อยกว่า 60 บาทต่อวัน และมีประมาณ 56% ของประชากรวัยทำงานที่อยู่ในภาวะยากจน และเกือบ 60% ของประชากรวัยทำงานรับจ้างทำงานในงานนอกระบบ 

การเปิด AEC จะทำให้สถานภาพของแรงงานเลวร้ายลงไปอีกหรือไม่ เพราะ AEC จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน นั่นหมายความว่า ในอีกด้านหนึ่งมาตรฐานและสิทธิแรงงานต้องถูกลดทอนเพื่อแข่งกันดึงดูดการลงทุนด้วยค่าแรงถูกและกฎระเบียบคุ้มครองแรงงานที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และนำไปสู่การละเมิดสิทธิคนงานอย่างกว้างขวาง รวมถึงการต่อต้านสิทธิการรวมตัวและต่อรองของแรงงาน 

นอกจากนี้ จะยิ่งทำให้มีการขยายการเลือกปฏิบัติในส่วนของสภาพการทำงานและสิทธิระหว่างแรงงานมีฝีมือกับแรงงานที่ไร้ฝีมือหรือไม่มีทักษะ เพราะกรอบของ AEC ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานทักษะ และแรงงานที่เชี่ยวชาญ แต่ละเลยแรงงานส่วนใหญ่หลายล้านคน การแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุดของต้นทุนในการลงทุน จะยิ่งทำให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในจุดต่ำสุดตลอดไป 

แม้แต่ภาคอุตสาหกรรมของไทยเองยังได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “จุดแข็งของภาคอุตสาหกรรมไทย จัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่มีอัตราค่าแรงงานต่ำ ค่าจ้างแรงงานของไทยยังไม่สูงเท่าใดนัก ทำให้ภาคการผลิตของไทยยังคงมีความสามารถในการแข่งขันด้านแรงงาน”

ในสภาวะที่ภาคธุรกิจมีอิทธิพลต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลลัพธ์ก็คือ เมื่อมีการปล่อยให้แข่งขันกันอย่างเต็มที่ ทุกประเทศก็มุ่งที่จะลดต้นทุนการผลิตโดยการลดระดับมาตรฐานแรงงานให้ต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งหากไม่มีการควบคุมก็จะทำให้มาตรฐานแรงงานในภูมิภาคสูญเสียไปในที่สุด 

ที่สำคัญ สิทธิแรงงานที่ควรจะได้รับการคุ้มครองไม่ให้เกิดการขูดรีด เอารัดเอาเปรียบ ก็จะถูกกดทับต่อไปภายใต้คาถา “ดึงดูดนักลงทุนด้วยค่าแรงถูก” ยิ่งในประเทศพม่าที่ทุนต่างชาติกำลังหลั่งไหลเข้าไปหลังการเลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ยังไม่มีกลไกใดๆ ในการคุ้มครองแรงงานพม่าแม้แต่น้อย ไม่นับแรงงานพม่าข้ามพรมแดน เช่นในประเทศไทยที่มีแรงงานพม่ามากกว่าล้านคน แต่จดทะเบียนตามบันทึกข้อตกลงการจ้างแรงงานเพียงครึ่งเดียว ที่เหลือต่างไม่มีเอกสารทางกฎหมายแต่กลับเป็นแรงงานกลุ่มที่อยู่อย่างถาวรที่สุด ซึ่งสามารถอยู่รอดได้ด้วยการจ่ายสินบนต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

แม้จะคาดการณ์ถึงความเข้มข้นของปัญหาแรงงานที่จะถูกลดทอนมาตรฐาน ลดทอนสิทธิ กดค่าแรงให้ถูกต่อไป แต่รัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงานก็ดูเหมือนจะไม่อนาทรร้อนใจ เพราะหลังลงนามในปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติ และมีการจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามปฏิญญาฯ มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 โดยอยู่ภายใต้รัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงาน แต่จนบัดนี้ 5 ปี หลังแต่งตั้งยังไม่สามารถตกลงกันได้เลยว่าจะคุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสถานภาพทางกฎหมายหรือไม่ 

ร่างข้อตกลงที่มีอยู่ในปัจจุบันเน้นรายละเอียดแต่สิทธิทางอาญามากกว่าการเน้นไปที่สิทธิแรงงาน ไม่ได้กำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำเพื่อประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน และปฏิญญาฯ ครอบคลุมเฉพาะแรงงานที่ถูกกฎหมายเท่านั้น
  
ข้อเสนอจากตัวแทน ASEAN Watch ก็คือ ต้องมีมาตรการ มีกลไกในประเทศกลุ่มอาเซียนในการคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคน รวมถึงแรงงานข้ามพรมแดน และแรงงานนอกระบบ ต้องมีการบังคับใช้จรรยาบรรณทางการค้าและหลักการรับผิดชอบต่อแรงงาน มีระบบการทบทวนมาตรฐานการคำนวณค่าจ้างที่ดำรงชีพได้และทบทวนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพทุกปี เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น