3 องค์กรเศรษฐกิจด้านธุรกิจเกษตรและอาหารเผยการส่งออกอาหารไทย 8 เดือนแรกของปี 2555 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่า 665,712 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มเพียง 1.7% ตามภาวะเศรษฐกิจโลก เผยตลาดสหรัฐอเมริกาอัตราขยายตัวลดลง ส่วนตลาดส่งออกจีน และเกาหลีใต้ยังคงเติบโตดี
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กรหลัก ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง “ภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทยในไตรมาสที่ 3/2555 การคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 2555 และแนวโน้มปี 2556” นั้นพบว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกค่อนข้างมาก ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารที่มีตลาดภายในประเทศมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อเน้นส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ แปรรูปสัตว์น้ำ เช่น กุ้งแปรรูป และทูน่าแปรรูป รวมทั้งผักผลไม้แปรรูป อาทิ สับปะรดกระป๋อง เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันผลพวงจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซนเริ่มลุกลามมากระทบอุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศและอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกต่างหดตัวลง
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่ 5.1% และ 9.6 % ในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม ตามลำดับ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี2555 อาเซียนยังคงเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 24.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.6 ในปี 2554 รองลงมาเป็นญี่ปุ่น สัดส่วนส่งออกร้อยละ 15.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.6 ในปีก่อน ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปหดตัวลงร้อยละ 10.4 และ 5.0 ตามลำดับ ส่วนแนวโน้มส่งออกไปตลาดอื่นๆ ที่หดตัวลงเช่นกัน ได้แก่ แอฟริกา และตะวันออกกลาง ลดลงร้อยละ 11.9 และ 9.8 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากการส่งออกข้าวเป็นหลัก รองลงมาคือ ผลไม้แปรรูป กุ้งแช่แข็ง/แปรรูป และผักสด/แปรรูป ขณะที่จีน และเกาหลีใต้ ยังเป็นตลาดที่เติบโตได้ดี ขยายตัวร้อยละ 28.8 และ 24.9 ตามลำดับ
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าส่งออกรวมตลอดไตรมาสที่ 3 มีโอกาสหดตัวลงร้อยละ 0.8 หรือมีมูลค่า 253,125 ล้านบาท เชื่อว่าในไตรมาสที่ 3 จะเป็นจุดต่ำสุดของอุตสาหกรรมอาหารในปี 2555 ขณะที่ไตรมาสที่ 4 คาดว่าภาคการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ขณะที่การส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมตลอดไตรมาสการส่งออกจะมีมูลค่า 240,520 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มสินค้าที่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ดีและยังมีกำลังการผลิตพร้อมที่จะส่งออก เช่น อาหารทะเลกระป๋อง ผักผลไม้กระป๋อง รวมทั้งเครื่องปรุงรส ที่ส่วนใหญ่สอดรับกับวิถีการบริโภคภายใต้ภาวะเศรษฐกิจซบเซา การส่งออกไก่สดน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นภายหลังจากมีการเพิ่มกำลังการผลิตรองรับตลาดหลักอย่างสหภาพยุโรปและอีกหลายๆ ประเทศที่อนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยได้ การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งมันเส้นและแป้งมันสำปะหลังไปยังตลาดจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมทั้งอาเซียนที่ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทดแทนอย่างข้าวโพด การทยอยส่งมอบน้ำตาลทรายให้ลูกค้าในภูมิภาคก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ปี 2555/56 การส่งออกข้าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากภาครัฐมีการส่งมอบข้าวเกิดขึ้นก่อนสิ้นปี หลังจากมีข่าวว่ามีการทำสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งกลุ่มสินค้าดังกล่าวคาดว่าจะช่วยประคับประคองภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกได้