สถาบันอาหารเผยผลกระทบค่าแรง 300 บาท มั่นใจส่งผลกระทบผู้ประกอบการในช่วงแรก แต่ระยะยาวคาดผู้ประกอบการปรับตัวได้ ชี้ผู้ได้รับผลกระทบต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐฯ ด้านการเพิ่มเทคโนโลยีการผลิต และช่วยเสริมความรู้ด้านนวัตกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพพร้อมแข่งขัน ส่วนแผนปี 55 หนุนนโยบายรัฐฯ ดันไทยสู่ครัวของโลก เน้นมาตรฐานผลิตอาหารปลอดภัย พร้อมมั่นใจมูลค่าส่งออกปี 55 แตะ 1 ล้านล้านบาทแน่
นางอรวรรณ แก้วประกายแสงกูล รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า หลังจากมาตรการขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลได้มีผลบังคับใช้ต่อสถานประกอบการไปบางจังหวัดแล้วส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารเล็กน้อย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่ต้นทุนต้องผันผวนจากราคาพลังงานด้วย ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังไม่สามารถรับสภาพในเรื่องต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าในระยะยาวน่าจะปรับตัวได้ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้นต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องการเพิ่มเทคโนโลยีด้านการผลิต เสริมความรู้ด้านนวัตกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพพร้อมแข่งขันกับตลาดในไทยและต่างชาติ
ส่วนแผนการดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ของสถาบันอาหารในปี 2555 รองผู้อำนวยการสถาบันอาหารกล่าวว่า ได้เตรียมผลักดันโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก จากงบประมาณ 75 ล้านบาท พร้อมทั้งตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไทยอีกไม่น้อยกว่า 10% สถานประกอบการด้านอาหารต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 5% ต่อปี และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย รวมถึงเพิ่มศักยภาพการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยอย่างยั่งยืนสู่หลักการปฏิบัติที่เป็นเลิศในการผลิต และรักษาระบบ Green Productivity เพื่อการผลิตอาหารที่ยั่งยืน เป็นต้น
ด้านนายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยในปี 55 โดยคาดว่าจะมีมูลค่าราว 1,013,250 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 5.1 โดยไก่และสัตว์ปีกเป็นสินค้าที่ขยายตัวดีโดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างประเทศญี่ปุ่น และยุโรป ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มการส่งออกลดลง คือข้าว ที่คาดว่าจะส่งออกได้ประมาณ 8.2 ล้านตัน เนื่องจากราคาข้าวไทยที่อยู่ในระดับสูงกว่าคู่แข่งจะแข่งขันได้ยาก โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และอินเดีย ซึ่งอุตสาหกรรมอาหารไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค การจำหน่าย การผลิต รวมทั้งความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม รวมถึงเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจน และอาจถึงจุดต่ำสุดที่ร้อยละ 3.3 ในปีนี้