xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดอาหารอินโดนีเซียนำเข้า-ส่งออกเติบโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลิตภัณฑ์ประมง และเมล็ดโกโก้ สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซีย
สถาบันอาหารชี้อินโดนีเซียยังนำเข้าอาหารจากไทย หลังพบชาวอิเหนาใช้เงินซื้ออาหารร้อยละ 50 จากรายได้ทั้งหมด ส่งผลการบริโภคภายในประเทศไม่เพียงพอ ขณะเดียวกันไทยยังนำเข้าเมล็ดกาแฟ และผลิตภัณฑ์ประมงเป็นอันดับต้นๆ จากอินโดนีเซีย

ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร รายงานสถานการณ์มูลค่าการค้าอาหารของไทยกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีศักยภาพทางการค้าและการบริโภคสูงว่า ในช่วงปี 2550-2554 มูลค่าการนำเข้าอาหารจากอินโดนีเซียของไทยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.43 ต่อปี ส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 22.451 ต่อปี และในปี 2555 ระหว่างเดือน ม.ค.-เม.ย. ไทยมีการนำเข้าอาหารจากอินโดนีเซียมูลค่า 6,884 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.09 ต่อปีเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 ที่มีมูลค่า 5,251 ล้านบาท กลุ่มสินค้านำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง เช่น ปลาทะเลแช่แข็งและปลาสคิปแจ็ก 2. กลุ่มน้ำมันและไขมัน เช่น น้ำมันปาล์มดิบและบริสุทธิ์ 3. กลุ่มชา กาแฟ โกโก้ เช่น เมล็ดโกโก้และผงโกโก้ 4. กลุ่มเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ และ 5. กลุ่มผลิตภัณฑ์จากแป้ง เช่น วาฟเฟิล และเวเฟอร์ เป็นต้น

ส่วนการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปอินโดนีเซียในปี 2555 ระหว่างเดือน ม.ค.- เม.ย. มีมูลค่า 22,563 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.07 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2554 ที่มีมูลค่า 19,780 ล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกได้แก่ 1. กลุ่มน้ำตาลและน้ำผึ้ง เช่น น้ำตาลดิบและน้ำตาลทราย 2. กลุ่มข้าวและธัญพืช เช่น ข้าวเจ้าขาว 15% ข้าวที่สีแล้ว และปลายข้าวเหนียว 3. กลุ่มแป้งและสตาร์ช เช่น สตาร์ชมันสำปะหลัง 4. กลุ่มผลไม้ เช่น ลำไยสด และทุเรียนสด และ 5. กลุ่มผัก เช่น หอมหัวเล็ก เป็นต้น

ปัจจุบันอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 6.1 และมีประชากรมากถึง 243 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ 85.2 ผู้ส่งออกจึงควรให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาในปี 2553 พบว่าชาวอินโดนีเซียมีค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มร้อยละ 23 ธัญพืชร้อยละ 19 ผักและผลไม้ร้อยละ 13 ปลา-อาหารทะเลร้อยละ 8 นมและไข่ร้อยละ 6 อาหารประเภทอื่นๆ เช่น เนื้อวัวร้อยละ 31

นอกจากนี้ ด้วยอุปนิสัยของชาวอินโดนีเซียมักนิยมซื้ออาหารเป็นจำนวนมาก ทั้งเพื่อรับประทานเองภายในครอบครัว และซื้อเป็นของฝากซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ชาวอินโดนีเซียมีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอาหารเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึงร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่สินค้าอาหารที่มีอยู่ในประเทศก็ยังมีปริมาณการผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าอาหารหลายชนิดจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ข้าวสาลี ผัก ผลไม้ และนม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น