Born To Be AEC ในแบบของ
ศาสตราภิชานไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ
การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทำให้ตลาดใหญ่ขึ้นเป็น 10 เท่า ความโชคดีของประเทศไทย คือ ทำเลที่ตั้งอยู่ตรงกลาง เมื่อประเทศไหนจะเข้ามาค้าขายในอาเซียน ต้องอาศัยเส้นทางผ่านประเทศไทย แต่พอพูดถึงการจัดอันดับทางเศรษฐกิจในอาเซียน ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง อันดับ ที่ 4 - 5 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน เพราะ เมื่อเราอยู่ตรงกลาง เป็นโอกาสให้เรามองดูตัวเองว่า เราจะไปแข่งกับใคร ที่สำคัญต้องรู้จักว่า เรามีความสามารถขนาดไหน ถ้ามีความสามารถมาก ก็ขึ้นไปขายในกลุ่มประเทศที่เหนือ เราอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ถ้าต้องการแข่งกับคนที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับเรา อย่าง ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แต่ถ้าจะมองประเทศที่ต่ำกว่าเรา ไปที่พม่า กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย
ที่สำคัญ คือ SMEs ต้องรู้จักเปลี่ยนแปลง เพราะหลังจากมีการรวมกลุ่ม 10 ประเทศเป็น AEC สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ ประชากร ครึ่งหนึ่ง เป็นแขก มุสลิม อย่างน้อยต้องรู้ภาษาแขก ภาษาอังกฤษ รู้วัฒนธรรมประเพณี การบริโภคสินค้า เพื่อที่จะได้หันมามองว่า จะผลิตอะไรและขายให้ใคร ที่สำคัญอย่าจับปลาหลายมือ ควรที่จะเลือกขายประเทศใดประเทศหนึ่ง เพียงประเทศเดียว และเข้าไปศึกษาอย่างจริงจัง แบบฝั่งตัว
วางแผนยุทธศาสตร์รับมือ AEC
การวางแผนธุรกิจ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เราก้าวผ่านพ้นไปสู่คำว่า ความสำเร็จ ซึ่งเป้าหมาย ของการดำเนินการอยู่ที่การลดค่าใช้จ่าย ด้านงบประมาณ และการใช้ทรัพยากรต่างๆ ขององค์กร ได้อย่างคุ้มค่า
การวางแผนที่สำคัญ คือ การวงแผนกลยุทธ์ ซึ่งประกอบไปด้วย วิสัยทัศน์ (Vision) การกำหนดทิศทางที่จะทำธุรกิจในอนาคต โดยต้องมีกลยุทธ์ (Strategy) เป็นตัวระบุวิธีการสำคัญ และที่สำคัญที่สุด คือ ต้องมีการขับเคลื่อน (Execution) ได้แก่ การดำเนินการตามแผนอย่ามองไปในทางเดียวกัน (Alignment) และมีการบูรณาการ (Integrating) ให้มากที่สุด เพื่อผลสำเร็จของงานตามวิสัยทัศน์นั่นเอง
การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic plan) คือ การวางแผนที่มองวิสัยทัศน์แบบองค์รวม เพื่อการขับเคลื่อนในทางธุรกิจ ไปพร้อมกันในหลายๆ หน่วยงาน เริ่มจาก การวางแผนระดับนโยบาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของ CEO หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย คณะกรรมการ ซึ่งมักจะเรียกแผนยุทธศาสตร์ 4 ประการ คือ 1. วิสัยทัศน์ธุรกิจ (Vision) คือ เป้าหมายขององค์การที่วางแผนจะดำเนินการในระยะยาว มีหลักเป็นรายปี ซึ่งสามารถวัดได้ว่าบรรลุวัตถุประสงค์นั่นหรือไม่ เพียงใด 2.พันธกิจธุรกิจ (Mission) หมายถึง เหตุผลในการจัดตั้งองค์การนั่น 3.นโยบายสำคัญ (Key policy) ข้อห้าม และข้อพึงปฏิบัติ ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามวิสัยทัศน์ 4.กลยุทธ์ (Strategy) หมายถึง แนวทางหลักที่ได้คัดสรรแล้ว ในการเป็นกรอบในการขับเคลื่อนในทางธุรกิจ จะได้มีพลังและใช้ทรัพยากรอย่างเสริมกัน แบบมีผลิตภาพ
สำหรับคุณสมบัติของยุทธศาสตร์ ระดับองค์การจะเน้นหนักไปในเรื่องพิเศษ 5 ข้อได้แก่ 1. การมองภาพและการวางแผนเป็นองค์รวม 2. การวางแผนเพื่อดำเนินการหลายๆปี 3. การดำเนินการมากกว่า 1 สายงาน 4.การมีทางเลือก และการคัดสรร และ 5. การใช้ภาวะผู้นำบริหารการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลักในกระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์ ผู้วางแผนมักจะเรียกว่าการทำ SWOT ซึ่งย่อมาจาก S คือ Strengths (จุดแข็ง) W คือ Weakness(จุดอ่อน) O คือ Opportunities (โอกาส) และ T คือ Threats (ภัยคุกคาม) ซึ่งในส่วน ของ S กับ W เป็นส่วนของข้อเท็จจริงภายในองค์การ ส่วน O และ T เป็นส่วนของสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ
ทั้งนี้ จะต้องมีการประเมิน สิ่งแวดล้อมภายใน หมายถึง การตรวจพิสูจน์อย่างจริงจังว่า จุดแข็ง ที่ควรเน้นและนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็ต้องเฝ้าระวังจุดอ่อน ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เหมือนระเบิดเวลา และหลังจากที่เราได้แผนกลยุทธ์แล้ว ก็ต้องแปลงเป็นแผนการขับเคลื่อนในทางธุรกิจ โดยได้กำหนดตัวตรวจเช็คที่สำคัญ 2 ชุด คือ เครือข่าย S 7 ตัวของ แมค แคนซี่ ประกอบด้วย Structure โครงสร้าง System ระบบ Strategy กลยุทธ์ย่อย Staff คุณค่าของคน Skill ทักษะ Style สไตล์การทำงาน และสุดท้าย Shared Value ค่านิยมร่วม
ส่วนชุดตรวจเช็ค ชุดที่ 2 คือ BSC Balance Score Card โดยการแปลงกลยุทธ์มาเป็นการขับเคลื่อน โดยต้องคำนึงถึงดังต่อไปนี้ ต่อเจ้าของเงิน ที่ให้เงินมาลงทุน FP ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย CP คำนึงถึงระบบการบริหารงานภายในIBS ความพร้อมในการเรียนรู้และเติบโต L&G ส่วนการวางแผนกลยุทธ์มี 2 รอบ รอบแรก วางจากบนลงล่าง คือเจ้าของเงินFP ต่อไป CP วางแผนในรองสอง การส่งร่างแผนรอบแรกไปยังผู้ปฏิบัติ การตามแผนเพื่อให้ศึกษาร่างนั้นๆ
สุดท้ายการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ควรที่จะมีการเขียนแผนดำเนินการตั้งแต่รายเดือน รายสัปดาห์ จนถึง รายวัน โดยมีเครื่องมือต่างๆ ดังนี้ การทำงานและความสำคัญก่อน หลัง แผนผังการดำเนินงานเชิงวิกฤต และตารางดำเนินการตามลำดับชิ้นงาน จาก เครื่องมือ 3 อย่างข้างต้นจะได้ เรื่องคนและงบประมาณมาแปลงเป็นกิจกรรมการดำเนินการ และสุดท้ายคือ ต้องกำกับดูแลในระหว่างดำเนินการ
/////////////////////////////////////////
การปรับตัวของ SME ต่อข้อตกลง AEC
อาจารย์มโนรถ กุศลศักดิ์
สำหรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นการรวมของชาติในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ วัตถุประสงค์เพื่อให้มีผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจร่วมกัน มีอำนาจต่อรองกับคู่ค้าได้มากขึ้น ข้อตกลงหลักทำร่วมกันได้แก่ การเป็นตลาดฐานการผลิตเดียวกัน การเป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องพึ่งระวัง คือการลงทุนที่เสรีมากๆ ถ้าวันหนึ่ง ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เข้ามาเจรจากับนักลงทุนในประเทศไทยในรอบนอก ตามจังหวัดต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ตรงนี้น่าเป็นห่วง SMEs ไทยยังไม่แข็งแรง โอกาสที่จะแข่งขันมีพื้นที่ให้น้อยลง หรือ โครงการพี่เลี้ยงน้องไม่ต้องมี เพราะธุรกิจส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ แต่สิ่งที่น่ากลัว อีกอย่างหนึ่ง คือ ประเทศมหาอำนาจ อย่างจีน และอินเดีย ใช้ประเทศใดประเทศหนึ่งในอาเซียนเป็นนอมินี เขาก็เข้ามาลงทุนในบ้านเราได้ ผลกระทบเกิดขึ้นกับ SMEs ถ้าเรายังไม่ป้องกันตัวเอง
โดยต้องเริ่มจากระบบการศึกษา ต้องปฏิรูปการศึกษาเมืองไทยใหม่ ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครสามารถทำได้ เพราะติดเรื่องระบบฐานการเมือง ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราควรจะรีบดำเนินการในการพัฒนาคุณภาพของนักศึกษา โดยเฉพาะทักษะทางด้านภาษา และการกล้าแสดงออก แม้ว่าจะเหลือเวลาเพียงแค่ 2 ปีกว่า แต่ถ้าทำเป็นนโยบายเร่งด่วน ก็พอที่จะมีโอกาสอยู่บ้าง
ส่วนจุดแข็งของประเทศไทยอยู่ที่ การท่องเที่ยว สนามบินมีสายการบินกว่า 90%จากทั่วโลกที่บินมาเอเชีย มาใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ และบริการ เพราะเราอยู่ตรงกลาง อาจจะได้เปรียบเรื่องการจัดการประชุม การจัดนิทรรศการ ศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงการคมนาคม และการบริการด้านสุขภาพ การแพทย์ เติบโตอย่างมากเช่นกัน
ปรับตัวอย่างไรช่วง 2 ปีครึ่งของ SMEs
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของเราตอนนี้ คือ เราจะทำอย่างไรในช่วง 2 ปีครึ่ง เพราะรู้กันอยู่ว่าความพร้อมของเรามีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมทางด้านภาษาอังกฤษ เพราะเราเป็นประเทศที่อ่อนที่สุด ยืนยันได้จากสอบพื้นฐานภาษาอังกฤษ ซึ่งคะแนนเฉลี่ยของคนไทยต่ำกว่าทุกประเทศ เพราะทุกประเทศเคยตกเป็นเมืองขึ้น มีการใช้ภาษาอังกฤษดีกว่าเรา ต่อจากนี้ เราจะสอนให้คนไทยกินปลาไม่ได้อีกแล้ว การศึกษาต้องสอนให้เด็กรู้จักที่จะหาปลา และเมื่อถึง 2558 สิ่งที่ต้องทำคือ ผู้ส่งออก ขนาดกลางและขนาดเล็ก จะต้องช่วยตัวเอง โดยพัฒนาประเด็นต่อไปนี้ให้เกิดขึ้นกับองค์กรให้มากที่สุด
1. ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และทัศนะคติ ให้เป็นเชิงรุกมากกว่าเชิงบวก คือต้องบริหารธุรกิจขนาดเล็กของเราให้เป็นแบบมืออาชีพมากขึ้น มีการวางระบบการบริหารจัดการที่ให้เอื้อกับธุรกิจ
2. การปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะต่อจากนี้ไปต้องต่อสู้กับประเทศที่มีศักยภาพกว่า เรา และประเทศด้อยกว่าเราก็จะพัฒนาขึ้นมาทัดเทียมเรา ดังนั้น ควรที่จะศึกษาคู่แข่งอย่างไม่ประมาท เราอาจจะต้องอ่อนน้อมถ่อมตน เหมือนกับพม่า ลาว เขมร และวางแผนเตรียมลุกขึ้นมาเมื่อพร้อมในอีก สิบปีข้างหน้า ซึ่งมีตัวอย่างประเทศเวียดนาม ที่เคยถูกมองข้ามว่าล้าหลัง แต่ตอนนี้ สามารถแซงเราไปในหลายๆ เรื่อง เพราะสอนให้คนของเขาฝักใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้หญิงเวียดนาม อ่านหนังสือที่เป็นความรู้ ถ้าSMEsไทยยังไม่ปรับตัวต่อไป ต่อไปตามหลัง พม่า ลาว เขมร โดยเฉพาะพม่าให้จับตามองไว้ให้ดี
3. สร้างความแตกต่างของสินค้าไทย และศึกษาพฤติกรรมของคนในแต่ละประเทศ SMEs จะต้องเน้นกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงการตลาด โดยต้องศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
4. ศึกษากฎระเบียบและเงื่อนไขการนำเข้าของประเทศคู่ค้า
5. สร้างเครือข่ายการผลิตให้เชื่อมโยงกันตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปจนถึงภาคการส่งออกเพื่อหาทางทำให้สินค้าต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงมา ปัจจุบันมีการดำเนินการกันอยู่ในรูปแบบของคลัสเตอร์
6. พัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทั้งหมดเป็นเพียงหลักการส่วนหนึ่ง ที่SMEs อาจจะได้นำไปปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะต้องไปเราคงจะยอมให้ประเทศที่มีศักยภาพเหนือกว่า อย่างประเทศสิงคโปร์ใช้SMEs ของเราเป็นแขนขา ช่วยทำให้เขามีความแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งวิธีนี้เปรียบเหมือนยุทธ์วิธีของชาวบ้านบางระจันที่ปกป้องแผ่นดินในการสู้ศึกกับพม่า ซึ่งภาครัฐเองก็ต้องมีนโยบายเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง
/////////////////////////////////
โอกาสแข่งขัน และทางรอดของSMEs ไทย ในการเข้าสู่AEC
อาจารย์สุรพงษ์ วงศ์พลับ
ปัจจัยที่ส่งเสริมความได้เปรียบของคนไทย
การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มองในแง่โอกาสของSMEsไทย หรือ ประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันหลายประเด็น ได้แก่ ที่ตั้งภูมิศาสตร์ที่ประเทศไทยอยู่ตรงกลาง ไม่ว่าจะเข้าไปทำการค้าในประเทศไหน ต้องใช้เส้นทางผ่านประเทศไทย ต้องหารายได้จากทางผ่านตรงนี้ ศักยภาพของอุตสาหกรรมและบริการของเรายังได้เปรียบในอาเซียนอยู่หลายตัว ความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นที่ เพราะทุกพื้นของประเทศไทย มีถนนหนทางที่ทุกคนสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก
นอกจากนี้ ศักยภาพของแรงงานฝีมือ ที่ประเทศไทยมีแรงงานฝีมือในหลายแขนง ความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ และศักยภาพด้านการเกษตร มีสินค้าเกษตรที่ปลูกได้ในพื้นที่ประเทศไทย และเป็นสินค้าส่งออกหลักหลายตัว
โอกาสทางด้านการค้าและการลงทุนของไทย เพราะต่อไปขยายFTA ในนามของอาเซียน ทำให้เรามีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งเป้าหมายของไทย คือ ต้องการที่เป็น “Trading Hub” ซึ่งต้องมีการบูรณาการให้กับเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก AECในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกได้ เพราะทุกประเทศนอกอาเซียน ต่างก็ต้องการใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง เพราะด้วยภูมิประเทศและที่ตั้ง
ผลกระทบทางด้านการค้าและการลงทุน จากAEC
1.คู่แข่งและสภาพการแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น 2.สินค้าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพต่ำเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศมากขึ้น หากไม่มีการควบคุม 3.นักลงทุนต่างชาติอาศัยสิทธินักลงทุนสัญชาติอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย 4. การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือคนไทยไปประเทศที่ค่าตอบแทนสูงกว่า
ส่วนสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ด้านบวก ยานยนต์ สิ่งทอ สินค้าอิเลกทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสุขภาพและความงาม ส่วนด้านลบ ได้แก่ น้ำมันปาล์ม เมล็ดกาแฟ มะพร้าว ชา ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยาง พลาสติก เหล็ก โลหะ ยา ส่วนภาคบริการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ด้านบวก ภาคบริการที่เนื่องกับการท่องเทียว ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมที่พัก บริการด้านสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล บริการ สปา นวดแผนไทย ได้เปรียบในแง่ของบุคลากร การแพทย์ที่มีศักยภาพและราคาที่เป็นธรรม บริการด้านอื่นๆ เช่น ก่อสร้าง ออกแบบ บันเทิง และการซ่อมบำรุง เป็นต้น
ส่วนภาคบริการได้รับผลกระทบด้านลบ บริการด้านโลจิสติกส์ ระบบโลจิสติกส์บ้านเรายังไม่ดีพอ โทรคมนาคม สาขาที่ต้องใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีสูง บริษัทสถาปนิกขนาดกลางและขนาดเล็ก
การสร้างวิกฤตให้เป็นโอกาส
ด้านการค้า ต้องเน้นการค้าภายในภูมิภาคมากขึ้น โดยการรุกตลาดสินค้าที่ไทยได้เปรียบและขยายตลาดตามความร่วมมือใหม่ ด้านบริการ ต้องทำให้ภาคบริการเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนให้มากขึ้น เน้นท่องเที่ยวและบริการด้านสุขภาพ ส่วน FDI การผลิตที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิต และหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และพร้อมเปิดรับนักลงทุนต่างชาติ ส่วนด้านแรงงาน ต้องผ่อนปรน ข้อจำกัดในการทำงานของแรงงานต่างชาติ เพิ่มพูนทักษะแรงงาน โดยเฉพาะทางด้านภาษา และปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล การเคลื่อนย้ายเงินทุน เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าออกได้เสรีมากขึ้น ค่าเงินมีแนวโน้มผันผวน ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวในการบริการ จัดการด้านต้นทุนและลดความเสี่ยง ด้านอัตราแลกเปลี่ยน
บทสรุป AEC คือ การขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ช่วยยกระดับให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทมากยิ่งขึ้น หรือเป็น ASEAN Hub AEC ยังก่อให้เกิดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบอย่างมากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะต่อ SMEs ธุรกิจไทยจะต้อง พยายามเจาะกลุ่มตลาดกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความได้เปรียบ ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือในการเตรียมความพร้อมและเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดเสรีอย่างเต็มรูปแบบ
////////////////////////////////////
ที่มา : งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “SMEs Roadmap : เปิดแนวรุกบุก AEC” จัดโดยสำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม วันที่ 19-20 กรกฎาคม 2555 โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ ถนนบรรทัดทอง กรุงเทพฯ