xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมหาที่พันไร่ผุดนิคมฯ พลาสติก (Plastics Park)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันพลาสติกเตรียมผลักดันแนวทางตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลาสติก หรือ Plastics Park ในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อจัดระบบการผลิตให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับ AEC ปี 2558 เล็งพื้นที่รวม 1,000 ไร่

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเป็นประธานคณะกรรมการสถาบันพลาสติก วันที่ 29 พฤษภาคมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการที่จะผลักดันแนวคิดการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลาสติก หรือ Plastics Park ขึ้น เพื่อเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมพลาสติกไทยที่จะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีมูลค่าเพิ่มสามารถแข่งขันเวทีการค้าโลกได้ โดยเฉพาะเมื่อไทยต้องเข้าสู่ประคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ปี 2558

“ผมจะทำหนังสือให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับสถาบันฯ ไปศึกษาร่วมกัน โดยหลักการเบื้องต้นได้หารือกันแล้วรวมถึงเอกชน ได้แก่ บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล บมจ.ไออาร์พีซี บ.เอสซีจี เคมิคอล บมจ.วีนิไทย และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งทั้งหมดได้วางแนวทางเบื้องต้นแล้ว ที่เหลือจะมีการลงรายละเอียดต่อไปซึ่งต้องการให้สรุปเร็วที่สุด” นายวิฑูรย์กล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบเบื้องต้นจะเน้นการสร้างโรงงานสำเร็จรูปในการให้เอกชนเช่าดำเนินการเพื่อจัดระเบียบระบบลอจิสติกส์ สาธารณูปโภค และการผลิตและบริการที่ครบวงจร เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก หรือคลัสเตอร์เพื่อลดต้นทุนการผลิตภาพรวม พื้นที่ที่คาดว่าจะดำเนินการประมาณ 1,000 ไร่อยู่บริเวณภาคตะวันออก เช่น จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.ฉะเชิงเทรา

นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวจะต้องไปหารือในรายละเอียด โดยเบื้องต้นเอกชนบางรายได้เสนอพื้นที่มาแล้วที่จะดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้สรุปเพราะแนวทางดำเนินการนั้นอาจจะกระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับ AEC เพราะหากไทยไม่ปรับตัวความสามารถทางการแข่งขันอาจลดต่ำลงก็จะกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพรวมของไทย เพราะพลาสติกนั้นเกี่ยวข้องเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ฯลฯ

“หลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการแล้วแต่จะใช้ชื่อต่างกัน และล่าสุดมาเลเซียก็กำลังดำเนินการเช่นเดียวกับไทยคือ Plastics Park ซึ่งเราคาดหวังว่าเมื่อทำให้เข้มแข็งจัดระเบียบดีๆ จะผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลาง หรือฮับ อุตสาหกรรมพลาสติกในภูมิภาคได้ ซึ่งในภูมิภาคเราเองก็เป็นรองมาเลเซียอยู่ แต่จีนคงไม่คิดที่จะแข่งขัน เราจะต้องเน้นมูลค่าเพิ่มมากกว่าที่จะลงไปแข่งระดับล่าง” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการพลาสติกรวมประมาณ 3,000 ราย 80% เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) โดยกว่า 80% ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการจ้างงานรวมประมาณ 300,000 คน สร้างรายได้ปีละ 250,000 ล้านบาท ซึ่งสถาบันฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับทุกส่วนในการส่งเสริมการผลิตสินค้าสำเร็จรูปมากขึ้นเพื่อเพิ่มการจ้างงานและรายได้ แทนการส่งออกเม็ดพลาสติกที่ไทยผลิตได้ 7 ล้านตันต่อปีแต่ส่งออกเป็นเม็ดถึง 50% มีการใช้ในประเทศเพียง 50% เท่านั้น

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยปี 2555 ภาพรวมน่าจะขยายตัวประมาณ 3% จากปี 2554 ที่ไทยมีการนำเข้าเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกประมาณ 300,000 ล้านบาทและส่งออกประมาณ 450,000 ล้านบาท ซึ่งเกินดุลประมาณ 150,000 ล้านบาทในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ผลจากค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้น 300 บาทต่อวันนำร่อง 7 จังหวัดส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีระดับหนึ่ง แต่ปัญหาหลักขณะนี้กลับเป็นเรื่องการขาดแคลนแรงงานคนที่ทางสถาบันฯ กำลังรวบรวมตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อจัดทำโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกขึ้น โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะมีการลงนามความร่วมมือเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น