xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ ชี้ยูโรโซนถึงทางตัน นอนรอความช่วยเหลือ ห่วงฉุด ศก.ตกต่ำทั่วโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์
ม.หอการค้าฯ ชี้การแก้ปัญหาวิกฤตหนี้ยูโรโซนเดินมาถึงทางตันแล้ว ไม่สามารถใช้เครื่องมือ ทั้งการเงิน-การคลังเข้าไปแก้ไขได้ เพราะภาระหนี้สินจำนวนมากที่ต้องแก้โดยการลดค่าเงิน แต่ติดอุปสรรคใหญ่ที่ใช้เงินสกุลเดียวกันหมด ต้องรอความช่วยเหลือเท่านั้น หากยูโรโซนต้องล่มสลายคาดกระทบ ศก.ตกต่ำทั่วโลก ส่วนส่งออกไทยสูญตลาดกว่า 1 แสนล้าน เดินหน้าตั้งศูนย์ข้อมูลเชิงลึกด้าน ศก.ช่วยผู้ประกอบการ และรับมือ AEC ปี 58

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์เกิดวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน โดยมองว่ากำลังจะถึงทางตันเนื่องจากไม่สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังในการแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ในขณะนี้ เพราะภาระหนี้สินที่มีจำนวนมาก การลดค่าเงินก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเงินสกุลยูโรที่ใช้ทั้งยูโรโซน จึงรอเพียงความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและมิตรประเทศที่จะช่วยเหลือเท่านั้น

ทั้งนี้ หากกลุ่มประเทศยูโรโซนต้องล่มสลายลง คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำทั่วโลก พร้อมระบุว่าไทยส่งออกไปยุโรปประมาณร้อยละ 11 อาเซียนส่งออกไปยุโรปร้อยละ 24 จีนส่งออกไปร้อยละ 24 เช่่นกัน โดยยุโรปลงทุนโดยตรง (FDI) ในไทยร้อยละ 16 นักท่องเที่ยวร้อยละ 19 เกิดวิกฤตส่งผลให้ระยะสั้น FDI ไม่กระทบมากนัก แต่จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง

ขณะที่มองว่าตลาดทุนจะผันผวน นักลงทุนต้องระมัดระวัง ค่าเงินก็จะผันผวนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาพรวมแล้วเศรฐษกิจไทยยังแข็งแกร่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่มาก หนี้สาธารณะมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หากจำเป็นสามารถอัดฉีดเศรษฐกิจของประเทศได้

ด้านนายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการเปิดตัวศูนย์ AEC Strategy Center โดยมองว่า การที่กลุ่มประเทศ PIIGS ได้แก่ โปรตุเกส ไอซ์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจทำให้ไทยส่งออกสินค้าลดลงประมาณร้อยละ 17 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 150,000 ล้านบาท

สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ยางและผลิตภัณฑ์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อัญมณี และเสื้อผ้า นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากยูโรโซนจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยลดลงด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปยูโรโซนคิดเป็นมูลค่ารวม 7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด และเชื่อว่าปัญหาในยูโรโซนต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาประมาณ 3-5 ปี

อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตยูโรโซนจำกัดอยู่ในกลุ่มและยังไม่ลุกลามออกมานอกเขต และวิกฤตยูโรโซนลุกลามมาไทยอาจกระทบจีดีพีของไทยเพียงร้อยละ 0.5 ทำให้จีดีพีของไทยยังอยู่ในกรอบที่ร้อยละ 5 จากคาดการณ์จีดีพีไทยที่อยู่ที่ร้อยละ 5-6 พร้อมมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวจากใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น รถไฟ และการป้องกันอุทกภัย

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ยังเสนอแนะทางออกลดผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซน 2 วิธี การใช้กลยุทธ์ด้านราคาสินค้าที่ส่งออกไปอียูให้อยู่ในระดับราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง เพื่อให้ประชากรในยุโรปสามารถจับจ่ายได้โดยง่าย รวมถึงการหาตลาดใหม่ในอาเซียนทดแทนตลาดเดิม

นอกจากนี้ ยังควรใช้สิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ อย่างเต็มศักยภาพ จากปัจจุบันที่ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์น้อยเกินไป ส่วนการเปิดประเทศของพม่า ไทยมีโอกาสเข้าไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง และอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากพม่ามีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ซึ่งการตั้งโรงงานในพม่ายังได้รับการยกเว้นภาษี มีการย้ายเมืองหลวงใหม่และเมืองบริวาร รวมทั้งมีการพัฒนา 4 ท่าเรือสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมองว่าพม่ามีความได้เปรียบด้านการทำการค้าเพราะอยู่ติดกับจีนและอินเดีย, มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมาก และมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ กับไทย เช่น ท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมองว่าหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 จะส่งผลให้จีดีพีพม่าเติบโตประมาณร้อยละ 8 และจีดีพีไทยจะโตร้อยละ 4.9 ในปี 2016-2020

สำหรับศูนย์ AEC Strategy Center จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลเชิงลึกด้านธุรกิจการค้าและการลงทุนของอาเซียน นอกจากนี้ยังเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนให้ผู้ประกอบการ รวมถึงมีหน้าที่ช่วยจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจและฝึกอบรมซึ่งถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น