xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯ อาหารไทยสดใส อาเซียนเชื่อมั่นคุณภาพพร้อมรับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเพ็ชร  ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม
สถาบันอาหารเผยมูลค่าส่งออกอุตสาหกรรมอาหารไทยไปตลาดอาเซียนยังหอม ปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นอันดับ 1 ประเมินอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาด AEC มีทั้งโอกาสและอุปสรรค แม้ค่าจ้างแรงงานจะแพงกว่ากลุ่มประเทศ CLMV ไม่ห่วงเรื่องวัตถุดิบ คุณภาพ และมาตรฐานการผลิตเพราะมีศักยภาพสูง แต่ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ให้ถูกใจผู้บริโภค

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงโอกาสและอุปสรรคของอุตสาหกรรมอาหารไทยในตลาด AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่า อุตสาหกรรมอาหารของไทยถือว่ามีศักยภาพการแข่งขันค่อนข้างสูง พิจารณาได้จากปัจจัยด้านต่างๆ เช่น ปัจจัยด้านการผลิต (Factor Conditions) ในแง่ของวัตถุดิบ ไทยมีวัตถุดิบเป็นจำนวนมากทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลาย ซึ่งเวียดนาม และอินโดนีเซียมีศักยภาพด้านวัตถุดิบใกล้เคียงกับไทย กรณีพม่า แม้จะมีวัตถุดิบจำนวนมากแต่ยังต้องอาศัยเวลาในการยกระดับคุณภาพไปสู่มาตรฐานอีกระยะหนึ่ง ในแง่ของต้นทุนแรงงาน ไทยได้เปรียบสิงคโปร์และมาเลเซียในแง่ค่าจ้างที่ถูกกว่า แต่ก็สูงกว่ากลุ่มประเทศ CLMV มาก ในแง่เทคโนโลยีการผลิตรวมทั้งปัจจัยทุน ไทยได้เปรียบกลุ่มประเทศ CLMV แต่เสียเปรียบสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่มาก เช่นเดียวกับระบบโครงสร้างพื้นฐานของไทย

ส่วนปัจจัยด้านการตลาด (Demand Conditions) นั้น พบว่าตลาดของไทยมีขนาดใหญ่แต่กำลังซื้ออยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ หากเทียบกับสิงคโปร์ บรูไน และมาเลเซียถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงกว่า แต่ตลาดเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดที่มีขนาดเล็ก และอัตราการขยายตัวของการบริโภคไม่สูงนัก สินค้าที่จะเติบโตในตลาดเหล่านี้ต้องเป็นสินค้าใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนตลาด CLMV ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อต่ำมาก ตลาดขยายตัวอย่างช้าๆ ยกเว้นเวียดนามที่มีตลาดขนาดใหญ่เทียบเท่ากับไทย ขณะที่กำลังซื้อของตลาดก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน (Related & Supporting Industries) ของอุตสาหกรรมอาหารไทยค่อนข้างมีความหลากหลาย แต่จุดอ่อนอยู่ที่การรวมตัวของเครือข่ายการผลิตตลอดสายโซ่อุปทานยังไม่เข้มแข็งนัก

ทั้งนี้ ในส่วนของกลยุทธ์ทางธุรกิจ โครงสร้าง และการแข่งขัน (Firm Strategy, Structure & Rivalry) ประเทศในอาเซียนแทบทุกประเทศยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมตลาดโดยรัฐ กฎระเบียบต่างๆ ยังไม่เสรีอย่างแท้จริง เช่น การควบคุมราคาสินค้า การกำหนดมาตรฐานต่างๆ ที่ส่งผลทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า การลงทุน แต่แนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ เริ่มจะดีขึ้นจากการที่หลายประเทศในอาเซียนต้องปรับตัวเข้ากับพันธกรณีของ WTO การเข้าสู่ AEC รวมทั้ง FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ส่วนความเชื่อมั่นด้านคุณภาพของสินค้าอาหารไทยในสายตาผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับประเทศ CLMV เพราะสินค้าส่วนหนึ่งผลิตเพื่อการส่งออก ผู้ผลิตจำเป็นต้องยกระดับการผลิตเข้าสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ ส่วนศักยภาพในการการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างตราสินค้าที่เป็นของตัวเอง (Brand) เพื่อโอกาสทางการตลาดของไทยทำได้ดีขึ้นแต่ยังไม่มาก สินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่ยังผลิตตามคำสั่งซื้อ (OEM)

“จากการที่สถาบันอาหารได้ดำเนินกิจกรรมอันเป็นประโยชน์หลายด้าน พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค และต้องการการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ สถาบันอาหารจึงริเริ่มจัดทำโครงการเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่อุตสาหกรรมอาหารของไทย หรือ Thailand Food Forward ขึ้น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้โตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรของไทย การเพิ่มผลผลิต รวมไปถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ” นายเพ็ชรกล่าว

นายเพ็ชรกล่าวต่อว่า เนื่องจากประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่เป็นแหล่งที่ผลิตอาหารได้มากเกินความต้องการบริโภคและมีการส่งออกไปจำหน่ายสร้างรายได้กลับเข้าประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี สินค้าเกษตรและอาหารจึงเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรในภูมิภาคนี้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเปิดตลาดอาหารอาเซียนทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะทุกประเทศก็ต้องการปกป้องภาคเกษตรและอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของตน นอกจากนี้ยังพบว่ามีอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนของผู้ประกอบการอาหารไทยอยู่หลายประการ อาทิ ตลาดอาเซียนโดยรวมมีกำลังซื้อต่ำ เมื่อเทียบกับตลาดหลักในประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรือยุโรป ส่งผลให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไม่คุ้มค่าในการทำตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น