xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกง่ายจริงหรือ(ว่ะ) / คอลัมน์: ยักษ์เล็กขึ้นชก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กัณฑ์พัฒน วงศ์ศิริกุล

คอลัมน์ ยักษ์เล็กขึ้นชก โดย กัณฑ์พัฒน วงศ์ศิริกุล เอสเอ็มอีธุรกิจเทียนแฟนซี แบรนด์ BECRAFTS

“จะเอาอะไรไปขายดีนะ”
ผู้ประกอบการที่เฝ้าแต่ถ้ำ ขายแต่แบบเดิม ไม่เคยไปไหน จะมีคำถามประมาณนี้

เราผลิตสินค้าแบบนี้เมืองนอกก็มีแล้วจะขายได้เหรอ? หรือเราไม่มีโรงงานแล้วจะเอาอะไรไปขายดี?

อยากจะเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ครั้งแรกที่ผมไปทำการค้าที่เมืองนอก ที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปแบบไม่ได้ไปเที่ยวหรือไปเยี่ยมญาติ ต้องเตรียมตัวไปอยู่เป็นระยะเวลานานทีเดียว ครั้นจะไปพักโรงแรม ค่าโรงแรมก็หนักโข ถ้ายิ่งต้องกินอาหารโรงแรม หรือร้านอาหารข้างนอก ก็กลัวว่าจะจ่ายไม่ไหว เพราะทุกอย่างถือว่าเป็นต้นทุน อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด ผมเลยติดต่อเพื่อนที่อาศัยอยู่ที่นั้น ขอไปอาศัยด้วย

ว่าแล้ว ผมเตรียมขนบะหมี่ซอง น้ำพริก อาหารแห้งไปเต็มกระเป๋าเดินทาง 1 ใบ จะได้ประหยัดเงิน อีกกระเป๋าใส่สินค้าตัวอย่าง และเสื้อผ้านิดหน่อย ส่วนกระเป๋าหิ้วขึ้นเครื่องก็ใส่เน็ตบุ๊คกับเสื้อผ้าอีกเล็กน้อย

พอไปถึงแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนมารับไปพักที่บ้าน พอเปิดประตูเข้าไป นั่งยังไม่ทันหายเพลีย เขาก็บอกว่า อยากเห็นสินค้า ประมาณว่าตื่นเต้นมาก เพราะเราคุยไว้ว่า สินค้าเราที่จะขายเนี่ย ห้างหรูๆ ในยุโรปแย่งกันสั่งซื้อ เอาไปแปะยี่ห้อของห้างเค้า และต้องรีบสั่งจองล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ ด้วย เดี๋ยวออร์เดอร์โรงงานเต็ม

เพื่อนเลยแย่งเปิดกระเป๋า แต่ดันเลือกเปิดใบที่ผมอัดเสบียงอาหารมาเต็มๆ พอเปิดออกมา เจ้าเพื่อนตัวดีหัวเราะก๊ากเบอเริ่มเทิ่มเลย หัวเราะไม่หยุด ไอ้เราก็งง ขนบะหมี่ซองกับน้ำพริกมันผิดตรงไหน (ว่ะ)

ขอบอก เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ไอ้ของพวกนี้ ในอเมริกาหาซื้อได้ง่ายมาก แค่แวะร้านขายของเอเชียที่มีแทบทุกเมืองในอเมริกาก็หาซื้อได้แล้ว มีทั้งของจริงจากเมืองไทย และของปลอมทำเลียนแบบ โดยเฉพาะบะหมี่ซองแล้วยิ่งน่าตกใจ เพราะมีแทบทุกยี่ห้อ ทั้งของไทย เกาหลี ญี่ปุ่น สารพัดประเทศ สารพัดยี่ห้อ ส่วนเส้นก๋วยเตี๋ยว ข้าวสารไทย ข้าวหอมมะลิทั้งผลิตในไทย และผลิตในอเมริกา ข้าวญี่ปุ่นเม็ดกลมๆ น้ำจิ้มยี่ห้อต่างๆ ของไทย น้ำจิ้มจากฮ่องกง ซอสเวียดนาม จากมาเลย์ จากอิตาลี ฯลฯ โอ๊ย! สารพัดประเทศ ไล่แจกแจงไม่หมด โดยเฉพาะซอสพริกที่เลียนแบบไทย แต่แปะว่าเมดอินเวียดนาม ละลานตาไปหมด

ลองจินตนาการว่า ในเมืองไทยคุณไปเดินหาซื้อของกินเข้าบ้านที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีของสารพัดอย่าง ทั้งสินค้าไทยและสินค้าจากต่างประเทศทั่วโลก แต่ของเค้าขนาดสโตร์ใหญ่กว่า สาขาเยอะกว่า และสโตร์ที่เปิด 24 ชั่วโมงหลายๆ แห่งขนาดน้องๆ แมคโครที่เมืองไทยเลย

พวกของกินก็มียี่ห้ออร่อยบ้าง ไม่อร่อยบ้าง อยู่ที่ปากของแต่ละคน ไอ้ที่ไม่อร่อยในรสชาติของเรา ก็ดันเป็นที่นิยม มีสินค้าตั้งเรียงขายเยอะมากกว่า ทำให้ผมคิดว่า สงสัยจะเอาบรรทัดฐานที่เราชอบ เป็นที่ตั้งไม่ได้แล้ว

เจ้าของร้านสินค้าเอเชีย ส่วนมากมักจะเป็นคนเวียดนาม แล้วก็มีคนลาวบ้าง ส่วนคนไทยมีน้อยหน่อย ส่วนมากคนไทยจะนิยมเป็นเจ้าของร้านอาหารไทยซะมากกว่า

ราคาสินค้าก็มีตั้งแต่ถูกยันแพง สินค้าประเภทเดียวกันราคาไล่จากถูกยันแพงเป็นลูกระนาด ก็ยังมีคนเข้าไปซื้อทั้งของถูกและแพง สินค้าเป็นที่น่าภูมิใจของไทยก็คือ “กระทิงแดง” ของไทยนี่แหละ ราคาดันแพงกว่าเพื่อน และแพงกว่าของราคาถูกบางยี่ห้อที่ผลิตในอเมริกาด้วยเกือบ 50% ก็ยังขายได้

ที่ไล่เรียงมาเยอะแยะ อยากบอกว่า บทเรียนแรกเกี่ยวกับการส่งออกที่ผมได้จากการไปเห็นด้วยตา คือ อยากขายอะไร ก็เอาไปขายได้เลย ไม่ว่าคุณจะเป็นเจ้าของโรงงาน หรือซื้อมา-ขายไป เอาของไปขายได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญ อยู่ที่ว่าเตรียมการขาย และแผนการขายดีแค่ไหน รายละเอียดสมบูรณ์ไหม สำคัญคือ รู้จักปัจจัยแวดล้อมที่ถูกต้องหรือเปล่า หรือเลือกแต่ใส่ข้อมูลเฉพาะด้านดี โดยไม่รู้ หรือลืม(หรือแกล้งลืม) ใส่ข้อมูลด้านร้ายลงไปด้วย

ดั่งที่ซุนวู ปราชญ์ด้านสงคราม ที่กูรูทั้งหลายนิยมเอามาประยุกต์เข้ากับการค้านั้นบอกว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” พวกเราชอบท่องแค่นี้ ส่วนต่อจากนี้ไม่ชอบท่อง ก็คือ “ต้องรู้จักชัยภูมิ” ด้วย มิฉะนั้น ลงเรือไปซะไกล จะตกปลากะพง จะได้แต่ปลาซิวปลาสร้อย ได้ไม่คุ้มเสีย

Who dare win?

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

กำลังโหลดความคิดเห็น