ผลิตภัณฑ์ แบรนด์ “ซีเล็ค” ผงาดเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศไทยในตลาดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแปรรูปบรรจุกระป๋อง และยังเป็นผู้ผลิตรายสำคัญบนเวทีโลกด้วย โดยปีที่ผ่านมา (2554) บริษัทในเครือทั้งหมดทำรายได้รวมกว่า 1 แสนล้านบาท
กุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะถูกไขในบรรทัดด้านล่างต่อจากนี้ เมื่อผู้บริหาร “ซีเล็ค ทูน่า” ซึ่งปกติไม่ค่อยจะยอมออกสื่อบ่อยครั้งนัก ได้ให้โอกาสเปิดบ้านเข้าเยี่ยมชมโรงงานที่ จ.สมุทรสาคร พร้อมกับเปิดใจสัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับในการสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จ
@@@@ ตลาดหลักเน้นส่งออก ภายในชูพรีเมี่ยม @@@@
สมศักดิ์ สมิทธิเศรษฐ์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายโรงงาน บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด หรือ Thai Union Manufacturing Co.Ltd. ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ แบรนด์“ซีเล็ค” เกรินพื้นฐานของบริษัทให้ฟังว่า บริษัทก่อสร้าง เมื่อปี พ.ศ.2520 โดยเป็นบริษัทระดับเอสเอ็มอีที่ผลิตและส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง
ด้วยความต้องการของตลาดโลกที่สูงอย่างยิ่งในเวลานั้น ประกอบกับประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งการผลิต และมีแหล่งวัตถุดิบอุดมสมบูรณ์ ทำให้กิจการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากยุคแรกเป็นบริษัทระดับเอสเอ็มอี มีพนักงานประมาณ 120 คน ตามด้วยการขยายงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีพนักงานกว่า 8,000 คน กำลังผลิตประมาณ 600 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านกระป๋องต่อวัน
ทั้งนี้ เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดพบว่า การผลิตกว่า 98% จะรับรองสำหรับการส่งออกไปต่างประเทศ โดยกระจายแทบทุกมุมโลก มีตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ทวีปยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง แอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย ตามลำดับ โดยแบ่งสัดส่วนการส่งออกไปในแบรนด์ตัวเอง กับรับจ้างผลิต (OEM) อย่างละครึ่งใกล้เคียงกัน
“ในอุตสาหกรรมปลาทูน่าบรรจุกระป๋องบนเวทีโลกถือว่าการแข่งขันสูงมาก โดยมีคู่แข่งอยู่แทบจะทุกประเทศ ซึ่งในเอเชียมีคู่แข่งสำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งมีข้อได้เปรียบเรื่องค่าแรงงานถูกมาก อย่างไรก็ตาม โรงงานของเรายังมีจุดเด่นเรื่องประสิทธิภาพการผลิตที่สูงกว่า ซึ่งเป็นโนฮาวที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์ ไม่สามารถลอกเลียนได้ง่าย” สมศักดิ์ ระบุ
ในส่วนการผลิตเพื่อขายในประเทศนั้น เพียงแค่ 2% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม อัตราผลิตแค่ 2% ดังกล่าว ถือเป็นผู้ผลิตที่ครองสัดส่วนในประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 40%
ผู้บริหาร “ซีเล็ค ทูน่า” เสริมในจุดนี้ว่า พฤติกรรมการบริโภคของชาวต่างชาติ จะนิยมกินอาหารประเภทปลาอย่างมาก โดยกินเป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวัน ส่วนประเทศไทย ไม่นิยมกินปลาทูน่ามากนัก อีกทั้ง ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารสูง จึงมีทางเลือกหลากหลาย สามารถหากินของสดๆ ได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารแปรรูปมากนัก
จากปัจจัยดังกล่าว การทำตลาดในประเทศ ผลิตภัณฑ์ของ “ซีเล็ค ทูน่า” จึงวางตำแหน่งตัวเองเป็นอาหารกระป๋องทางเลือกมากกว่าเป็นอาหารหลัก โดยมุ่งทำเป็นอาหารกระป๋องคุณภาพสูง เกรดพรีเมี่ยม โดยจะคัดใช้วัตถุดิบเนื้อปลาชั้นดีกว่าส่งออกด้วยซ้ำ นอกจากนั้น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายกว่า 100 รายการ เช่น แกงเขียวหวานทูน่า ทูน่าผัดพริก มัสมั่นทูน่า และ ทูน่าแซนวิส ฯลฯ
@@@@ ชูสร้างคน สร้างสุข พื้นฐานองค์กรแข็งแรง @@@@
สมศักดิ์ เผยด้วยว่า พื้นฐานอุตสาหกรรมนี้ ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานจากคนเป็นหลัก และต้องใช้คนงานจำนวนมาก เพราะหลายขั้นตอนไม่สามารถใช้เครื่องจักรมาทำงานทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนขูดหนังปลา ลอกกระดูก เป็นต้น จำเป็นต้องใช้พนักงานที่มีความชำนาญ ทำงานมานาน จึงจะทำงานได้ประสิทธิภาพสูง ดังนั้น หัวใจสำคัญที่สุดขององค์กรนี้ คือ การสร้างแรงจูงใจให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรแห่งนี้ไปนานๆ
“ความภูมิใจของบริษัทเรา คือ พนักงานที่นี่ มีอัตราลาออก หรือย้ายไปโรงงานอื่นๆ น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับโรงงานใกล้เคียงใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโรงงานอยู่จำนวนมาก พนักงานของเรามีอายุงานเฉลี่ยกว่า 10 ปีขึ้นไป ในขณะเดียวกัน พนักงานจากที่อื่นก็อยากจะเข้ามาอยู่กับเรา ด้วยเหตุผลที่เราพยายามสร้างสุขให้พนักงานทั้งทางกายและทางใจ ตั้งแต่เรื่องของค่าตอบแทนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงงานใกล้เคียง อย่างเช่นรายวันได้ประมาณ 300 บาทขึ้นไป รวมทั้งมีเงินค่าพิเศษอื่นๆ เช่น ค่าล่วงเวลา นอกจากนั้น ยังมีสวัสดิการต่างๆ ให้ด้วย เช่น การฝึกอบรม พาไปเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ดูแลสุขภาพความปลอดภัย ให้รางวัลทองคำ สำหรับพนักงานที่มีอายุงานครบตามกำหนด เป็นต้น” ผู้บริหาร เผย
อีกทั้ง เนื่องจากพนักงานที่นี่กว่า 30% เป็นชาวต่างชาติ ได้แก่ ชาวกัมพูชา และชาวพม่า การบริหารองค์กรจึงยึดหลักความเสมอภาค ทั้งเรื่องผลตอบแทนรายได้ และสิทธิส่วนบุคคลต้องเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ ตัวอย่างเช่น ป้ายประกาศต่างๆ ทุกป้ายในโรงงาน จะต้องทำเป็น 3 ภาษา การประชุมทุกครั้งจะต้องมีล่ามคอยช่วยแปลภาษา ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ เท่าเทียมกัน เป็นต้น
ที่สำคัญ การสร้างให้องค์กรมีความแข็งแรง จะเน้นการสร้างความสัมผัสอันดีระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน ตั้งแต่ระดับบนสูงจนถึงล่างสูง โดยให้ความสำเร็จเรื่องการสื่อสารภายในองค์กรที่ให้พนักงานและผู้บริหารเกิดความรู้สึกใกล้ชิดเป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ดังนั้น ผู้บริหารของที่นี่จะลงมาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับพนักงานด้วยตัวเองอย่างใกล้ชิดทุกครั้ง
“เราให้ความสำคัญต่อการสื่อสารจากผู้บริหารไปสู่พนักงานอย่างมาก กิจกรรมต่างๆที่จัดขึ้น ผู้บริหารจึงลงไปคลุกคลีเอง เช่น ผู้บริหารแต่งชุดนักเรียนมาเล่นเกมกับพนักงาน หรือเล่นกีฬาสี ร้องเพลงร่วมกับพนักงาน ทำให้พนักงานเห็นถึงความจริงใจ และตั้งใจจริงของผู้บริหาร”
“นอกจากนั้น เรามีเวทีให้พนักงานได้แสดงออก ทั้งด้านความคิด และความสามารถต่างๆ โดยมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งวิธีการต่างๆ เราปรับให้เหมาะกับองค์กรของเราเอง นอกจากนั้น ยังเข้าร่วมโครงการ “สร้างบุคลากรด้านการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กร” ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ เพื่อพัฒนาคนในองค์กรขึ้นมาเป็นทีมงานทำหน้าที่แกนนำสร้างทัศนคติ ถ่ายทอดความรู้ และฝึกทักษะให้บุคลากรในองค์กร” ผู้บริหาร อธิบาย
@@@@ ทำครบวงจร สร้างอาณาจักรแสนล้าน @@@@
นอกจากบริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัดแล้ว ยังมีบริษัทในเครืออีกหลายบริษัท ที่ทำธุรกิจต่อเนื่องครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น บริษัทผลิตกระป๋องเปล่า ผลิตสิ่งพิมพ์ ผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง โดยรวมบริษัทในเครือมียอดขายต่อปีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนมาจากบริษัท ไทยรวมสินพัฒนาฯ ประมาณ 20% หรือประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับวัตถุดิบปลาที่ใช้ในโรงงาน มีแหล่งจับมาจากทั้งทะเลจากอ่าวไทย และนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น มหาสมุทรแปซิพิก มหาสมุทรอินเดีย โดยวัตถุดิบที่ใช้เป็นปลาทูน่า มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ ปลาโอดำ ปลาโอลาย ปลาโอแถบ ปลาโอครีบยาว ปลาโอครีบเหลือง ปลาทูแขก ปลาซาร์ดีน และปลาทรายแดง
โดยวัตถุดิบปลาที่เข้ามายังโรงงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เต็มประสิทธิภาพ ได้แก่ เนื้อปลานำไปทำปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง รวมถึง นำไปทำผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ต่างๆ ผลพลอยได้จากการผลิตทูน่า เช่น หัวปลา ก้างปลา ไส้ พุงปลา จะส่งต่อไปทำเป็นอาหารสัตว์ ในขณะที่น้ำที่ได้จากการนึ่งปลา หลังผ่านกระบวนการแล้วนำไปทำสารปรุงรส ขณะที่ส่วนของ “ตาปลาทูน่า” จะแยกและนำออกไปผลิตน้ำมันปลาทูน่าโอเมก้า 3 ซึ่งทั้งหมดดำเนินการโดยบริษัทในเครือ
นอกจากนั้น ส่วนของเสียต่างๆ จะผ่านกระบวนการบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเครื่องปั่นไฟ และเครื่องทำความเย็น ช่วยให้โรงงานประหยัดค่าพลังงานได้ปีละหลายล้านบาท
@@@ เผย Roadmap พร้อมรับมือ AEC
สำหรับแผนธุรกิจในอนาคตต่อไปนั้น ทางบริษัทฯ มีแผนสำคัญในการพยายามพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยเฉพาะการรับรองเปิดเสรีอาเซียน หรือ ACE ซึ่งปัจจุบัน โรงงานยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านวิศวกร เพราะบุคลากรที่จบในสายนี้ของไทยมีจำนวนค่อนข้างน้อย อีกทั้ง วิศวกรชาวไทยไม่ค่อยนิยมมาทำงานในโรงงานอาหารทะเลแปรรูป ส่วนใหญ่จะมุ่งไปทำงานในสายอุตสาหกรรมรถยนต์มากกว่า ดังนั้น ทางบริษัทได้เริ่มทดลองดึงตัววิศวกรจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ เข้ามาทำงาน เพื่อเข้ามาเสริมความรู้ใหม่ๆ ให้แก่โรงงานด้วย
ขณะเดียวกัน มีแผนพัฒนาบุคลากรคนไทยในองค์กรอย่างต่อเนื่อง เช่น อบรมภาษา หลักสูตรพิเศษ ฯลฯ เพื่อให้ขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญขององค์กรในอนาคต รอบรับการค้าเสรีที่กำลังจะเกิดขึ้น
ในส่วนการขยายตลาดต่างประเทศ จะมีทั้งการไปลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบซื้อกิจการ หรือควบรวมกิจการ โดยใช้ข้อได้เปรียบได้จากประเทศเหล่านั้น เช่น ไปตั้งโรงงานในประเทศโลกที่สาม ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษงดเก็บนำภาษีนำเข้าจากทวีปยุโรป อีกทั้ง ตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบปลาทะเล ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น เป็นต้น
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@