สถาบันอาหารชี้น้ำท่วมถล่ม จ.สมุทรสาคร กระทบธุรกิจอาหารทะเลทั้งระบบ ปัญหาตามมาเป็นลูกโซ่ แรงงานนับแสนส่อถูกลอยแพ ส่งออกหดนับหมื่นล้าน ระบุหากบานปลายเกิดท่วมขังเน่า วิกฤตจะทวีคูณ กระทบต่อความเชื่อมั่นของอาหารไทยในระยะยาว
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ที่กำลังจะไหลมาถึง จ.สมุทรสาคร เร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลสำคัญของประเทศ โดยปัจจุบัน จ.สมุทรสาคร มีโรงงานอาหารทะเล 265 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของโรงงานอาหารทั้งหมดในจังหวัด และคิดเป็นอัตราเกือบร้อยละ 30 ของโรงงานอาหารทะเลที่มีประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมีทั้งโรงงานอาหารทะเลขนาดใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท ขณะที่โรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอีอีกจำนวนไม่น้อย
ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นโดยทีมงานวิจัยของสถาบันอาหาร เชื่อว่า หากน้ำท่วม จ.สมุทรสาครรุนแรงจะส่งผลทำให้ผลผลิตอาหารทะเลใน จ.สมุทรสาคร คาดว่า ธุรกิจจะเสียโอกาสทางการค้า หากคิดเป็นรายเดือนจะมีมูลค่าประมาณเดือนละ 18,000 ล้านบาท จากรายได้ประมาณการในปี 2554 ที่คาดว่าน่าจะอยู่ที่ 216,000 ล้านบาท หากคิดสัดส่วนส่งออกต่อการบริโภคภายในประเทศในสัดส่วน 95:5 จะทำให้รายได้จากการส่งออกลดลงเดือนละประมาณ 17,000 ล้านบาท ขณะที่ความเสียหายต่อโรงงาน เครื่องมือเครื่องจักร จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่แรงงานหลักแสนคนอาจต้องตกงาน
อีกทั้ง ยังกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด เช่น เกษตรผู้ป้อนวัตถุดิบจะขาดแคลนรายได้ รวมถึง ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปขาดตลาด เช่น เครื่องกระป๋อง ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยแหล่งผลิตสำคัญอยู่ใน จ.สมุทรสาคร เช่นกัน
ในแง่การส่งออกในไตรมาสสุดท้ายน่าจะลดลงประมาณ 20,000 ล้านบาทหรือคิดเป็นมูลค่าส่งออก 220,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 9.1 และภาพรวมการส่งออกทั้งปีคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 950,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.4
ทั้งนี้ หากปัญหาลุกลามจากน้ำท่วมเป็นเวลานานจนกลายเป็นท่วมขัง ผลกระทบและความเสียหายจะรุนแรงขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลทำให้การส่งออกอาหารโดยรวมของไทยลดลงอีกเดือนละ 18,500 ล้านบาท แบ่งเป็นอาหารทะเล 17,000 ล้านบาท และอาหารอื่นๆ 1,500 ล้านบาท และภาพรวมการส่งออกทั้งปีคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 913,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากที่ประมาณการ 950,000 ล้านบาท
นายเพ็ชร ระบุด้วยว่า ในปี 2555 ความต้องการสินค้าอาหารไทยยังมีโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการอาหารในตลาดโลก แต่ในแง่การผลิตป้อนตลาดอาจเป็นข้อจำกัด จากปัจจัยเสี่ยงทั้งราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูง ปริมาณลดลงจากภาวะน้ำท่วม รวมถึง ความสามารถในการฟื้นตัวของโรงงานอาหารของไทย ซึ่งในกรณีที่โรงงานฟื้นตัว ได้ล่าช้า คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกอาหารลดลงเดือนละ 25,000 ล้านบาท หรือหากยืดเยื้อไปเป็น 1 ไตรมาส มูลค่าส่งออกจะลดลง 75,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว โรงงานอาหารสามารถกลับมาผลิตได้ในเดือนแรกของปี 2555 จะยังคงประมาณการส่งออกปี 2555 ไว้ที่ 950,000 ล้านบาท และสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นบวกได้
อีกปัญหาสำคัญ หากเกิดภาวะน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน และก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ย่อมจะส่งผลต่อจิตวิทยาของผู้บริโภคในระดับนานาชาติต่อภาพลักษณ์แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญอย่างประเทศไทยตามมาได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาระยะยาวต่อความเชื่อมั่นของอาหารไทย