xs
xsm
sm
md
lg

ไขเส้นทางสู่ “เจ้าสัว” พลิกขั้วอาหารจีน จุดตำนานของฝากแดนอีสาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ เจ้าสัว
ด้วยจุดยืนไม่หยุดพัฒนา พร้อมปรับตัวอยู่เสมอ คือ หัวใจแห่งความสำเร็จของ “เจ้าสัว” ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปชื่อดัง ที่เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ ในเมืองโคราช โดยขายอาหารจีนประเภทเนื้อหมูแปรรูป ก่อนจะหันมามุ่งจับตลาดสินค้าของฝาก ควบคู่กับสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำและน่าเชื่อถือ จนก้าวสู่ผู้นำในวงการ
ธนภัทร และ ณภัทร โมรินทร์
ตำนานแห่งธุรกิจนี้ สืบทอดมากว่า 50 ปี โดยทายาทธุรกิจรุ่น 3 อย่าง “ณภัทร โมรินทร์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท เตีย หงี่ เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด เล่าจุดเริ่มต้น เกิดขึ้นตั้งแต่คุณปู่ (เพิ่ม โมรินทร์) ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากเมืองหลวงมาอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ยึดอาชีพขายอาหารแปรรูปจากเนื้อหมู เช่น กุนเชียง หมูแผ่น หมูหยอง เพราะมองเห็นโอกาสด้านทำเลทองที่เป็นประตูเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับภาคอีสาน อีกทั้งเป็นแหล่งเลี้ยงหมูจำนวนมาก ที่สำคัญ ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้ในท้องถิ่น
นายเพิ่ม โมรินทร์  ผู้บุกเบิกธุรกิจ
ด้วยสายตาที่มองตลาดใหม่ได้แม่นยำ ร้าน “เตีย หงี่ เฮียง” ค่อยๆ สร้างชื่อในฐานะเจ้าดังประจำท้องถิ่น และเมื่อเข้ายุคคุณพ่อ (ธนภัทร โมรินทร์) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยแตกไลน์สินค้าตระกูลหมูออกไปเป็นหมูยอ แหนม ไส้กรอกอีสาน เพื่อเอาใจลูกค้าชาวอีสาน อีกด้านหันจับตลาดของฝาก เพื่อบริการนักท่องเที่ยว เพราะเห็นชัดว่า โคราชเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สัญจรผ่านไปมาต้องแวะกราบไหว้ย่าโม จึงขยายกิจการปักหลักขายอยู่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี กลายเป็นประตูสู่ความสำเร็จอย่างโดดเด่นของ “เตีย หงี่ เฮียง”
ภายในร้านขายของที่ระลึก


“ถึงจะเริ่มต้นจากการทำผลิตภัณฑ์เนื้อหมู แต่เราวางจุดยืนตัวเองที่จะเป็นผู้ผลิตอาหารแปรรูปครบวงจร ทำให้ต่อยอดทำสินค้าอื่นๆ เช่น ขนมคบเคี้ยว น้ำพริก ฯลฯ ซึ่งตลาดกว้างกว่า เหมาะที่ลูกค้าจะซื้อกลับไปเป็นของฝาก ควบคู่กับที่คุณพ่อให้ความสำคัญกับเรื่องแบรนด์มานานแล้ว ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว ทุกบรรจุภัณฑ์จะมีชื่อร้านให้ลูกค้าจดจำและติดต่อได้” ณภัทร เผย และเสริมต่อว่า


การพลิกขั้วขยายตลาดเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป กลยุทธ์นำสินค้ากลุ่มอาหารแฝงไปผูกกับการท่องเที่ยว ทำให้ฐานลูกค้าของ “เตีย หงี่ เฮียง” ขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง ส่งให้ยอดขายโตอย่างก้าวกระโดด จนต้องพัฒนาด้านการผลิตจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนหันมาใช้เครื่องจักรทดแทน รวมถึง เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น “เจ้าสัว” ในพ.ศ.2535 เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

“สิ่งที่คุณพ่อจะบอกเสมอ คือ เราไม่ได้ทำธุรกิจแค่วันนี้ แต่ต้องทำธุรกิจเพื่อ 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น หลายสิ่งที่คุณพ่อทำในเวลานั้นจึงค่อนข้างล้ำสมัย เช่น เครื่องจักรลงทุนสั่งจากเยอรมนี ทั้งที่เครื่องจีนถูกกว่ามาก และเวลานั้น การผลิตก็ยังไม่ต้องการเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากนัก แต่คุณพ่อเลือกที่จะซื้อความคุ้มค่าในอนาคต เช่นเดียวกับการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ “เตีย หงี่ เฮียง” ซึ่งคนท้องถิ่นรู้จักอย่างดี แต่เรามองตลาดในอนาคตที่ต้องการขายทั่วประเทศ ถ้าเป็นชื่อจีนจะเรียกยาก ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่าน ต้องทำความเข้าใจกับลูกค้าเดิมอยู่พอสมควร แต่ในที่สุด เวลาก็พิสูจน์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง” ทายาทรุ่น 3 ระบุ
หน้าร้านขายของฝาก เจ้าสัว ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ
เอสเอ็มอีรายนี้ ยังสร้างอีกปรากฏการณ์ ในปี พ.ศ.2546 ลงทุนกว่า 40 ล้านบาท ก่อตั้งโรงงาน และศูนย์ขายสินค้าของฝาก บนเนื้อที่กว่า 25 ไร่ ตั้งอยู่ริมถนนมิตรภาพ ระหว่างกรุงเทพฯ -โคราช ซึ่งในส่วนโรงงานได้มาตรฐานสากลครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น GMP HACCP และฮาลาล เป็นต้น ขณะที่ศูนย์ขายสินค้า ดึงดูดด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนประยุกต์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน จนกลายเป็นแหล่งพักรถที่มีนักท่องเที่ยว และคณะทัวร์แวะจอดซื้อสินค้าแน่นตลอดทั้งวัน


ในส่วนของทายาทรุ่น 3 เมื่อเข้ามาสานต่อธุรกิจตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว เธอ ระบุว่า ยังยึดแนวคิดมุ่งพัฒนาเช่นเดิม ตัวอย่างเช่น ปรับบรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ เพื่อขยายตลาดสู่ระดับบน ควบคู่กับรักษาตลาดเดิม อีกทั้ง ออกสินค้าใหม่ ในกลุ่มธัญพืชแบบสแน็ก ตอบรับเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ
บรรจุภัณฑ์รุ่นใหม่ พัฒนาเพื่อเจาะจงซื้อเป็นของฝาก
นอกจากนั้น ยังพาสินค้าไปขายตลาดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อเจ้าดังอย่าง 7-11 กว่า 1,000 สาขา และปั๊มน้ำมันระดับพรีเมียมกว่า 60 จุดทั่วประเทศ

“สิ่งสำคัญที่แบรนด์ “เจ้าสัว” ต้องการสื่อกับลูกค้า เราไม่ได้แค่ขายตัวสินค้า แต่ขายความรู้สึกที่ดูดี มีคุณค่าในทุกโอกาส ผ่านทั้งบรรจุภัณฑ์ มาตรฐานการผลิต และตำนานผู้นำของฝากที่อยู่คู่เมืองโคราชมากว่า 50 ปี ซึ่งทุกอย่างถูกดีไซน์ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน” ณภัทร เผย
โรงงานของ เจ้าสัว
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ “เจ้าสัว” มีกว่า 200 รายการ สินค้าอันดับหนึ่ง ได้แก่ ข้าวตังหมูหยอง ด้านผลิตจากยุคบุกเบิกมีคนงาน 4-5 คน ทุกวันนี้ประมาณ 200 คน กำลังผลิตกว่า 40 ตันต่อเดือน ช่องทางขายหลัก ผ่านหน้าร้านของตัวเอง 3 สาขาในโคราช และอีกแห่งในกรุงเทพฯ ควบคู่กับผ่านตัวแทนขายทั่วประเทศ
ภายในโรงงาน
ผู้บริหารสาว เผยก้าวต่อไปจะมุ่งส่งออกมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบัน สัดส่วนในประเทศประมาณ 80% ส่วนส่งออกแค่ 20% โดยใช้วิธีการออกงานแสดงสินค้า หาตัวแทนขายในต่างประเทศ พร้อมสร้างแบรนด์ใหม่ เจาะจงตลาดส่งออกโดยเฉพาะ

“การทำสินค้าใหม่ หรือขยายหาตลาดใหม่ใดๆ ก็ตาม เราจะไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่จะดูจากความต้องการของลูกค้าหรือตลาดก่อนว่า อยากได้แบบไหน แล้วกลับมาดูตัวเราเองว่า พร้อมและสามารถทำตามที่เขาต้องการได้หรือไม่ เพื่อจะทำสินค้าให้ตอบโจทย์ดังกล่าวให้ได้” ณภัทร ตบท้ายด้วยหลักคิดการทำธุรกิจ

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น