xs
xsm
sm
md
lg

3 องค์กรเอกชนส่งสัญญาณรัฐฯ เสนอ 5 แนวทางอาหารปลอดภัยโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

3 องค์กรเศรษฐกิจ ระดมสมองเสนอแนวทางรัฐ 5 ประเด็น ชูครัวไทย สู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก เน้นมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัยหวังได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ส่วนแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยครึ่งปีหลังยังโตต่อเนื่อง

นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า จากการระดมความคิดเห็นของ 3 องค์กรเศรษฐกิจ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารจากสมาคมต่างๆ ได้เสนอแนวทาง 5 ประการของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย เพื่อพร้อมไปสู่การยกระดับ “ครัวไทย สู่ครัวอาหารปลอดภัยของโลก” แก่รัฐบาลใหม่ดังนี้ 1) นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกควรพัฒนาให้เชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ “อาหารไทยเป็นอาหารของโลก” และการยกระดับไปสู่การสร้าง “ครัวไทยเป็นครัวอาหารปลอดภัยของโลก” 2)เพื่อสร้างความยั่งยืนในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ควรมีนโยบายพัฒนาเชิงโครงสร้างตั้งแต่วัตถุดิบต่อเนื่องจนถึงการตลาดอย่างเป็นรูปธรรม3)ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า รวมทั้งความปลอดภัยในอาหาร(Food safety) อย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วนเพื่อรองรับการเปิดเสรีทางการค้าในระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 4) ดูแลราคาสินค้าวัตถุดิบต้นทาง ตลอดจนสินค้าสำเร็จรูปปลายทางให้สอดคล้องกัน และ 5) ป้องกันปัญหามาตรการทางการค้าที่สัมพันธ์กับภาวะโลกร้อนที่จะมีเพิ่มขึ้นเป็นผลให้เกิดอุปสรรคการค้าและการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร

“สำหรับโครงการครัวไทย อาหารปลอดภัยสู่โลก หรือThailand Food Safety Kitchen to the World เป็นแผนการดำเนินงานที่สถาบันอาหารเตรียมเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อต่อยอดโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โดยให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารปลอดภัย อาทิ การพัฒนาโรงงานแปรรูปอาหารของไทยเพื่อสร้างศักยภาพในการส่งออก โดยโรงงานในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยต้องได้รับการรับรองระบบ HACCP plus รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอาหารโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Ready to Eat ที่ตอบสนองแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก” นายเพ็ชรกล่าว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลก โดยจะมีมูลค่าราว 421,912 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดี ในขณะที่ภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 3 และ 4 คาดว่าจะมีมูลค่า 212,176 และ 209,735 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 24
กำลังโหลดความคิดเห็น