xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นงัด กม.เข้มด้านอาหาร หวั่นกระเทือนส่งออกข้าวไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ญี่ปุ่นยกระดับความปลอดภัยในอาหาร งัด กม.ตรวจสอบย้อนกลับเจาะจงสินค้าข้าว และผลิตภัณฑ์จากข้าวที่ผลิตภายในประเทศ ต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มา หวังสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ด้านสถาบันอาหาร หวั่นไทยอาจได้รับผลกระทบส่งออกสินค้าข้าวไปญี่ปุ่นทางอ้อม

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นนับเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่บังคับให้นำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ไปใช้ในสินค้าอาหาร เพื่อให้สามารถจำกัดความเสียหายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดและหากกรณีที่มีปัญหาจะช่วยจำกัดความเสียหายให้เกิดในวงแคบได้ คือ สามารถเรียกเก็บเฉพาะสินค้าที่มีปัญหาไว้ได้ทั้งหมดและสามารถสืบหาสาเหตุของปัญหาได้ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศกฎหมาย Traceability ในสินค้าข้าว กำหนดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 และตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน โดยระบุไว้บนหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ หรือใบแจ้งหนี้ เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคทราบบนฉลากสินค้า หรือใช้หมายเลขรหัสที่สามารถสืบค้นข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้าได้ ทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าข้าว ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับวัตถุดิบข้าวในประเทศญี่ปุ่นต้องสร้างและเก็บรักษาการบันทึกข้อมูลสินค้าข้าวไว้เป็นระยะเวลา 3 ปี

“ข้าวเป็นสินค้าอาหารของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกไปญี่ปุ่นติดอยู่ใน 10 อันดับแรก โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 สินค้าข้าวของไทยมีมูลค่าการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20.98 ในขณะที่การส่งออกไปยังทั่วโลกหดตัวลง แสดงว่าข้าวไทยยังสามารถเติบโตได้ดีในตลาดญี่ปุ่นเมื่อเปรียบเทียบกับในตลาดโลก และข้าวไทยที่ส่งเข้าตลาดญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในร้านอาหารไทยรวมถึงนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรู้จักข้าวไทยจากการที่หน่วยงานภาครัฐของไทยพยายามส่งเสริมและแนะนำการบริโภค” นายอมร กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทย อาจไม่จำเป็นต้องปรับตัวมากนักเนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมิได้ครอบคลุมไปถึงสินค้าข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการจัดเตรียมข้อมูลประกอบสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศไทยเพื่อเสนอให้แก่บริษัทนำเข้าหรือผู้ประกอบการของญี่ปุ่นในกรณีที่ถูกร้องขอ เชื่อว่าการที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่บังคับใช้กฎหมายดังกล่าวนี้ อาจเป็นเพราะต้องการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าข้าวที่ผลิตในญี่ปุ่นเท่านั้น

ขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรชาวญี่ปุ่นให้เข้มข้นขึ้นกว่าเดิมและเพื่อส่งเสริมให้ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคข้าวที่เพาะปลูกในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น กำหนดโควตานำเข้าข้าวไว้ปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งหากผู้ส่งออกสินค้าข้าวเข้าญี่ปุ่นภายใต้โควตาจะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากส่งนอกโควตาต้องเสียภาษีในอัตรา 341 เยนต่อกิโลกรัม อีกทั้งการบังคับให้มีการแสดงข้อมูลแหล่งเพาะปลูกข้าวนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากข้าว ผู้ส่งออกข้าวย่อมได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น