คนที่ติดตามข่าวสารความเป็นไปของประเทศจีน คงพบเห็นเรื่องปัญหาสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารในประเทศจีนปรากฏเป็นประเด็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รวมถึงหน้าอินเตอร์เน็ต สลับกับข่าวความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้เห็นอยู่เนือง ๆ
สำหรับประเทศจีน ในปีที่แล้ว แซงหน้าญี่ปุ่นก้าวขึ้นมาเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสองของโลก และได้กำหนดเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสำหรับปีนี้ ไว้ที่ 8% พร้อมทั้งตั้งเป้ารักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีไว้ที่ 7% ตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2558 ... นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ชี้ อีก 19 ปีข้างหน้า จีนมีสิทธิแซงหน้าสหรัฐ ก้าวขึ้นเป็นชาติเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลก หากรักษาการเติบโตของจีดีพีที่ 8% ไว้ได้ตลอด (ที่มา: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 23 มี.ค. 2554)
อย่างไรก็ดี การพัฒนาแบบก้าวกระโดดในด้านเศรษฐกิจของจีนกลับไม่ได้มีผลต่อการพัฒนาในด้านสุขอนามัยให้ก้าวหน้าอย่างทัดเทียมตามกันไปด้วย
ไม่ว่าจะเป็น สารเมลามีนในนมผง วิกฤตสีแดงซูดาน (หรือสารซูดาน เรด มีคุณสมบัติสีสดใส สีติดทนนาน จึงใช้เป็นสารฟอกย้อมที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นสารก่อมะเร็ง แต่มีการนำมาใช้ในสินค้าจำพวกเครื่องสำอางหรืออาหารบางประเภทเช่น พริกป่น ซอส เป็นต้น) สารแต่งกลิ่นเพียงหยดเดียวหอมกรุ่น (一滴香) ที่ยังคงเงื่อนงำเรื่องโทษภัยในการใช้ สารเร่งเนื้อแดง ฯลฯ ประเด็นเรื่องหนึ่งสู่อีกเรื่องหนึ่งมีความต่อเนื่องชนิดที่ว่า ความวัวยังไม่หาย ความควายก็แทรกเข้ามา ล่าสุด ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการเซี่ยงไฮ้ประกาศ พบ “หมั่นโถวย้อมสี” ตามด้วยการตรวจพบ “งาดำปลอม” ที่ปักกิ่ง “สารเปลี่ยนเนื้อหมูเป็นเนื้อวัว” จากการรายงานโดยเว็บไซต์ chinasmack.com
นับว่าเป็นกระแสการตรวจสอบอย่างเข้มงวดไปทั่วประเทศกันเลยทีเดียว ความกวดขันและเอาใจใส่ในตรวจสอบสินค้าและหาผู้รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในแต่ละคดีนั้นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่ทว่าอาจยังไม่เพียงพอที่จะสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าสุขอนามัยอาหารในประเทศจีนได้ ความเป็นไปในปัจจุบันนี้เปรียบเสมือน “ลมโหมคราหนึ่งที่ทำลายฝูงแมลงวัน แต่ยังไม่สามารถแก้ไขสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการกลับมาของฝูงแมลงวันได้ หรืออีกนัยหนึ่ง การพลิกโฉมไม่สามารถที่จะมองข้ามการแก้ไขทั้งระบบได้” นักข่าวแห่งเว็บไซต์ xinhuanet กล่าว
อาจารย์หวางซีซิน นักวิชาการรุ่นใหม่ผู้มีผลงานโดดเด่นและความเชี่ยวชาญในขอบข่ายด้านกฎหมายปกครอง จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้ให้ความเห็นว่า เนื่องจากปัญหาความปลอดภัยทางอาหารจะเป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกันหลายฝ่าย ซับซ้อน และยุ่งยากในการแก้ไข ดังนั้น การที่จะแก้ปัญหาจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายด้วยกัน กฎหมายและบทลงโทษปัจจุบันเป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรพิจารณา เพราะเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการในกรณีที่การเรียกร้องค่าเสียหายเกิดขึ้น การกำหนดบทลงโทษที่หนักอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น
หลักการนี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาการเมืองนิติการของจีน (ฝ่าเจีย) ที่มีวัตถุประสงค์ของบทลงโทษที่เข้มข้นก็เพื่อสร้างความยำเกรงให้ผู้กระทำผิด สร้างความตระหนักให้แก่ผู้ผลิตหรือเจ้าของกิจการ ก่อนที่จะตัดสินใจละเมิดกฎหรือกระทำความผิดใดๆ และท้ายสุดก็มุ่งหวังว่าบทลงโทษอย่างหนักที่ระบุไว้ จะนำมาซึ่งความตระหนักจนไม่จำเป็นต้องใช้บทลงโทษนั้น
เช่นเดียวกับยารักษาโรคที่แสนวิเศษจะมีคุณประโยชน์ต่อผู้ป่วยก็ต่อเมื่อมีเภสัชกรที่รู้สรรพคุณและเข้าใจว่าจะใช้ยานั้นอย่างไร ข้อกฎหมายที่เข้มงวด จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานตรวจสอบอย่างแข็งขัน โดยการสนับสนุนจากนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน เมื่อนักวิชาการผู้มีความรู้เฉพาะด้านช่วยกันสอดส่องและเสนอผลการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นข้อมูลสาธารณะประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไปแล้ว สังคมจึงจะเกิดความรู้ความเข้าใจ ที่ต้องอาศัยเหล่านักวิชาการก็เนื่องจากความรู้ในเรื่องอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารปนเปื้อนหรือพิษภัยจากอาหารปลอมแปลง ต้องอาศัยผู้มีความรู้เฉพาะด้านในการศึกษาวิจัยและตรวจสอบเป็น “ผู้ฟันธง” เท่านั้น กรณีที่เห็นเด่นชัดได้แก่ การใช้สารเมลามีนในอาหาร ซึ่งผู้บริโภคยากที่จะแยกแยะระหว่างสินค้าที่ปนเปื้อนและไม่ปนเปื้อน และไม่สามารถรู้ถึงพิษภัยของสารชนิดนี้ได้เลย หากไม่มีการตรวจสอบและเปิดเผยจากแหล่งข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การเข้ามามีบทบาทอย่างพร้อมเพรียงกันของแต่ละภาคส่วนเพื่อยกระดับมาตรฐานใหม่ให้สุขอนามัยในอาหารของประเทศจีนนั้นเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไป การทำงานก็จะไม่ครบวงจร ขาดกลไกผลักดันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง และไม่สามารถจัดการกับปัญหาเดิมๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ได้เด็ดขาดและทันท่วงที
ส่วนการปรับปรุงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเห็นจะต้องรอดูประสิทธิผลจากแผนปฏิรูปงานราชการของรัฐบาลจีนซึ่งดำเนินการราวปลายปีที่แล้ว ที่ได้เปลี่ยนจากระบบเดิมที่เรียกกันว่าเป็น ชามข้าวเหล็ก (铁饭碗 อาชีพที่มีความมั่นคงสูง) ไปสู่ระบบสัญญาจ้างงานแบบมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 1 ถึง 5 ปี ด้วยความมุ่งหวังว่า จะสามารถปรับระบบการบริหารให้มีประสิทธิภาพและรักษาคนเก่ง คนที่มีผลงานเท่านั้น ไว้กับรัฐบาล
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากำลังเจ้าหน้าที่เทียบกับประเภทและจำนวนสินค้าที่ผลิตสู่ท้องตลาดเพื่อตอบสนองต่อปริมาณอุปสงค์ของประชากรจำนวน 1.3 พันล้านของประเทศแล้ว นับว่าเป็นงานที่หนักมากเอาการ ควรที่ภาคส่วนประชาชนหรือกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ จะร่วมด้วยช่วยกันสะท้อนปัญหาที่พบเห็นผ่านช่องทางต่างๆ ที่รัฐจัดไว้หรือมีอยู่แล้ว เช่น สายด่วนผู้บริโภค คอลัมน์ร้องเรียนตามหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นต้น รวมทั้งการติดตามความคืบหน้าของสื่อมวลชนในการไขคดีแต่ละคดีจนกว่าจะได้ข้อสรุป และปิดคดีอย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว
หากทุกช่องทางที่กล่าวมา ทั้งกฎหมายที่เข้มงวด เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ ประชาชนผู้บริโภค และสื่อ ร่วมมือกันสอดส่องดูแล ตรวจสอบและไม่นิ่งเฉยต่อสิ่งที่เป็นปัญหา และรับผิดชอบงานในส่วนของตนอย่างสุดกำลังให้ฟันเฟืองหมุนเป็นกลไกปกติแล้ว เชื่อได้ว่า จะสามารถแก้ไขสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดปัญหาให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
ไม่เพียงแต่ปัญหาเรื่องคุณภาพอาหารเท่านั้น อาจยังช่วยให้สินค้าชนิดอื่นๆ ของจีนได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ด้วยระบบการจัดการแบบเดียวกันนี้
ห้าปีนับจากนี้ เราคอยจับตาดูว่า ข้อเสนอดังกล่าว จะนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยในอาหารให้หมดสิ้นไป หรือจะเป็นเพียงแค่เสียงระฆังที่ถูกเคาะแล้วผ่านหูคนที่ได้ยินได้ฟังไปเท่านั้น.