เฟิ่งหวง - เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งนครฉงชิ่ง บุกจับ พ่อค้าหัวใสทำ “ขาหมูปลอม” ใส่สารเจือปนในอาหารเกินระดับมาตรฐาน ณ บ้านเช่าแห่งหนึ่งในเขตอวิ๋นหยัง นครฉงชิ่ง ขณะที่ สำนักงานดังกล่าวได้กำหนดเงินรางวัลสูงสุด 100,000 หยวน ให้กับผู้ที่แจ้งข่าวอาหารปลอม
ฉงชิ่ง ไทมส์ รายงาน(4 พ.ค.)ว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แห่งนครฉงชิ่ง ได้ตรวจพบโรงทำขาหมูปลอมในหมู่บ้านหยังซา เขตอวิ๋นหยัง นครฉงชิ่ง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยขณะที่พบ นายจัง โหม่ว พ่อค้าชาวจีน เจ้าของบ้านโรงฯ กำลังทำขาหมูปลอมดังกล่าวอยู่
สำหรับวิธีการทำ นายจังได้ใช้สารต่างๆ อาทิ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์(双氧水) ไนไตรท์(亚硝酸盐) และสารสีเหลือง(日落黄) ฯ ต้มผสมพร้อมกับชิ้นหนังหมูและเนื้อหมู ที่ถูกนำมาผูกติดกันด้วยเส้นด้าย จนมีรูปร่างคล้ายขาหมู
จากการตรวจสอบขาหมูฯพบว่า เขาได้ใส่สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์และไนไตรท์เกินระดับมาตรฐานถึง 48 เท่า ขณะเดียวกันโรงทำขาหมูปลอมแห่งนี้ ก็ไม่มีใบอนุญาตการผลิตอาหาร เจ้าหน้าที่ฯ จึงสั่งการให้นายจัง หยุดการผลิตขาหมูฯทันที พร้อมกับยึดของกลางไว้ชั่วคราว ได้แก่ “ขาหมูปลอม” จำนวน139 กิโลกรัม สารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 16 กิโลกรัม อุปกรณ์และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และส่งตัวอย่างขาหมูดังกล่าวไปยังศูนย์ตรวจสอบคุณภาพอาหารว่านโจว
และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการตระหนักถึงความปลอดภัยของอาหาร สำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ฉงชิ่ง ได้ประกาศจะมอบเงินรางวัลแก่บุคคลที่แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือค้าผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้คุณภาพ โดยกำหนดเงินรางวัลสูงสุดถึง 100,000 หยวน
นาย กัว เสียง รองผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ฉงชิ่ง กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมายตรวจสอบความปลอดภัยทางอาหาร มาเป็นเวลากว่า 100 วัน โดยเน้นการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหาร 9 ชนิด ได้แก่ นม ข้าว แป้ง และน้ำมัน ฯลฯ จนถึงขณะนี้ มีการตรวจพบและยึดอาหารที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพถึง 30,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการบางรายติดฉลากวันที่ผลิตปลอม
ทั้งนี้ การบริโภคไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้สำหรับฟอกสีผมและฆ่าเชื้อโรค และการบริโภคไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารกันบูดและทำให้เกิดสีของเนื้อสัตว์ จะทำให้ มีอาการ คลื่นไส้ อาเจียนและท้องเดิน ระคายเคืองในปากและลำคอ ปวดท้องท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด และปวดศีรษะ นอกจากนี้ ไนไตรท์ ยังสามารถทำปฎิกริยากับเอมีน (amine)ในอาหาร กลายเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงได้