xs
xsm
sm
md
lg

ชูแก้ปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ภัยคุกคามผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ ชูแก้ปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ภัยคุกคามผู้บริโภค ในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้ เผย ช่วงน้ำมันแพงพบผู้ประกอบการใช้น้ำมันเสื่อมสภาพกว่าร้อยละ 60 ด้านภาคสังคม-กระทรวงพลังงาน เตรียมจับมือ อปท.กระจายความรู้ผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพสู่ชุมชน 

เภสัชกร วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี รองประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 พ.ศ.2554  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะในน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมีสารพิษเกิดขึ้น สารพิษเหล่านี้เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็ง ใน พ.ร.บ.อาหาร จึงมีการกำหนดค่ามาตรฐานของสารโพลาร์ หรือตัวบ่งชี้ความเสื่อมสภาพของน้ำมันไว้ ว่า ควรมีไม่เกินร้อยละ 25     ที่ผ่านมา ภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภค  ในส่วนของผู้ประกอบการ ก็มีการรณรงค์ให้ใช้น้ำมันทอดซ้ำไม่เกิน 2-3 ครั้ง และไม่ควรผสมน้ำมันเก่ากับน้ำมันใหม่เข้าด้วยกัน เนื่องจากอาจเร่งให้เสื่อมสภาพเร็วขึ้น

จากการสุ่มสำรวจสถานการณ์น้ำมันที่ใช้ทอดอาหารตามเขตเทศบาลใน 8 จังหวัด และ กทม.ทุกเขต ประมาณ 3,000 ตัวอย่าง ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อประมาณ ปี 2552-2553   พบว่า ร้านอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ มีน้ำมันที่เสื่อมสภาพ และใกล้เสื่อมสภาพถึงร้อยละ 36 ขณะที่ช่วงวิกฤตน้ำมันแพง พบว่า มีอัตราการใช้น้ำมันเสื่อมสภาพและใกล้เสื่อมสภาพพุ่งสูงถึงร้อยละ 60   นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการกว้านซื้อน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาเติมสารฟอกใสลงไป และนำมาจำหน่ายในท้องตลาดแบบแบ่งถุง หรือที่เรียกว่า “น้ำมันลูกหมู” อีกด้วย เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจึงต้องมีการผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการควบคุมสถานการณ์น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพและสนับสนุนการกำจัดน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้กลับเข้าสู่วงจรอาหารอีก
               
“ในส่วนของภาคท้องถิ่นนั้น จะมีการณรงค์ให้นำน้ำมันทอดซ้ำไปใช้ผลิตไบโอดีเซล เพื่อเป็นพลังงานทดแทนสำหรับเครื่องมือเกษตร   ซึ่งมีนำร่องในหลายจังหวัดแล้ว เช่น อุบลราชธานี  มหาสารคาม ขอนแก่น ตรัง  ฯลฯ หากมีการนำน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพไปผลิตไบโอดีเซลมาขึ้นก็จะลดปัญหาการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาฟอกใสได้” ภก.วรวิทย์ กล่าว
               
ด้านนายประพนธ์ วงศ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมีการสนับสนุนการผลิตไบโอดีเซล หลายด้าน อาทิ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจน้ำมันจัดซื้อน้ำมันทอดซ้ำจากผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วไป เพื่อผลิตไบโอดีเซล ซึ่งดำเนินการไปแล้วประมาณ 3 ล้านลิตร  รวมทั้งส่งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญช่วยอบรมเทคนิคผลิตไบโอดีเซลในชุมชน แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้มากนัก เนื่องจากติดขัดปัญหาหลายอย่าง เช่น ยังแข่งขันกับกลุ่มรถซาเล้งรับซื้อน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพไปฟอกใสไม่ได้ อีกทั้งไม่มีกระบวนการประชาสัมพันธ์มากพอ จึงทำให้มีปริมาณวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลไม่มากนัก ดังนั้น ในเวทีประชุมสมัชชาสุขภาพปีนี้ ทางกระทรวงฯมีแผนจะเสนอให้ภาคท้องถิ่นทั้งชุมชนและเทศบาลจัดตั้งจุดรับซื้อน้ำมันทอดซ้ำอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้ค้าขายอาหารทุกขนาดธุรกิจเข้าถึงแหล่งรับซื้อง่ายขึ้น  รวมทั้งจัดส่งทีมอบรมการผลิตไบโอดีเซลลงพื้นที่ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อเร่งให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย
               
ขณะที่ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาชาติครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 2-4 ก.พ.นี้ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทั้ง 206 กลุ่มเครือข่าย จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาระเบียบวาระ “ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” มีข้อเสนอสำคัญคือ ผลักดันให้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำ ร่วมเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์และร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ และเสนอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในพื้นที่ ส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้น้ำมันทอดอาหาร ร่วมกันประกาศมาตรการ และดำเนินการจัดการอย่างครบวงจร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันทอดซ้ำกลับมาสู่วงจรอาหารซึ่งจะเป็นหลักประกันความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น