xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง ปชช.ใช้น้ำมันทอดซ้ำแนะนำไปทำไบโอดีเซล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า 8 แสนตันต่อปี ห่วงบริโภคน้ำมันทอดซ้ำ ก่อโรคมะเร็ง แนะแปรสภาพเป็นพลังงาน “ไบโอดีเซล”

วันนี้ (31 ม.ค.) ที่สำนักงานกองสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลงข่าว “ยุทธศาสตร์จัดการน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อป้องกันมะเร็งและความดันโลหิตสูงในคนไทย” พร้อมสาธิตการทดสอบน้ำมันทอดซ้ำ จากชุดทดสอบที่ผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แต่ละปีคนไทยบริโภคน้ำมันพืชกว่า 8 แสนตัน เนื่องจากคนไทยนิยมรับประทานอาหารประเภททอด โดยพบว่า ร้านค้าจำนวนมากที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีสารอันตราย คือ สารโพลาร์ (Polar compounds) เป็นสาเหตุให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งพบได้ทั้งในน้ำมันทอดอาหารที่เสื่อมสภาพ และในไอที่ระเหยขณะทอดอาหาร จึงมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้ทั้งผู้ขายและผู้บริโภค
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลจากทางกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2552 พบคนไทยมีอัตราการป่วยโรคความดันโลหิตสูงถึง 981.48 คนต่อประชากรแสนคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงมีความสัมพันธ์กับโรคระบบไหลเวียนโลหิต เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และเส้นเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสี่ของคนไทย ส่วนโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง ซึ่งมีอัตราการป่วย 133.1 คนต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ ไทยยังมีการนำเข้าน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพจากประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สิงคโปร์ และ มาเลเซีย แต่ไม่สามารถมีกฎหมายใดเอาผิดได้ เนื่องจากยังไม่ได้เป็นวัตถุมีพิษ หากต้องการจะปกป้องสุขภาพของคนไทยต้องผลักดันให้น้ำมันทอดซ้ำเป็นวัตถุมีพิษห้ามนำเข้าถึงจะสามารถต่อวงจรของน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพได้อีกทาง ทั้งนี้ทางภาควิชาการได้นำเสนออันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในระดับประเทศยังไม่มีนโยบายและมาตรการแก้ปัญหาในภาพรวมอย่างเป็นระบบ ที่จะช่วยลดอันตรายจากน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” นพ.มงคล กล่าว

ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร ผู้ช่วยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว่า ที่ผ่านมา กรมวิทย์ได้ทำงานร่วมกับ สสส.และ คคส.ทำงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่องหลายแห่ง ดำเนินโครงการปฏิวัติน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อสร้างความตื่นตัวในทุกภาคส่วน และขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองสุขภาพประชาชน ทั้งการสร้างความตระหนักถึงสถานการณ์และความสำคัญของปัญหา โดยให้ความรู้เรื่องอันตรายของน้ำมันทอดซ้ำ และสนับสนุนการนำน้ำมันทอดซ้ำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนไบโอดีเซล ซึ่งสามารถช่วยตัดวงจรน้ำมันเสื่อมสภาพไม่ให้เข้ามาในวงจรอาหารได้ หากนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ทั้งหมดประเทศไทย จะมีพลังงานทดแทนใช้ได้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านลิตรต่อปี

“กรมวิทย์ และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ได้สำรวจพบว่า มีกลุ่มพ่อค้าเห็นแก่ได้ออกซื้อน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพจากแหล่งต่างๆ ทั้งภัตตาคาร โรงแรม ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และแผงขายของทอดทั้งในตลาดและตามที่ต่างๆ ทั่วไป นำไปฟอกสีให้ใส แล้วนำไปใส่ถุงพลาสติกไม่มีฉลาก แล้วนำกลับมาขายใหม่ให้กลับโรงงานผลิตอาหารขนาดเล็ก โรงงานก๋วยเตี๋ยว ตลอดจนให้กับผู้บริโภคตามตลาดนัด และตลาดสด หรือที่เรียกกันว่า “น้ำมันลูกหมู” ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงต้องให้ความรู้กับประชาชนถึงอัตรายและตัดวงจรของน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพอย่างเร่งด่วน” ภก.วรวิทย์ กล่าว

รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงาน คคส.กล่าวว่า เครือข่ายภาควิชาการองค์กรภาครัฐและภาคประชาสังคม ร่วมจัดทำ “ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางอาหาร: การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อสภาพ” เพื่อสนองต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ในวันที่ 2-4 ก.พ.2555 ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์ท้องถิ่นปลอดภัยจากน้ำมันทอดซ้ำ 2.ยุทธศาสตร์ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคม 3.ยุทธศาสตร์พัฒนามาตรการกำกับดูแลและดำเนินทางกฎหมาย 4.ยุทธศาสตร์พัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการและยุทธศาสตร์การสร้างความตระหนักรู้ต่อสังคม

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเชื้อเพลิง ชีวภาพ กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน มียุทธศาสตร์การพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อการจัดการ และมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก โดยมีการฝึกอบรมฝ่ายช่างขององค์กรส่วนท้องถิ่น ประกอบเครื่องผลิตไบโอดีเซล และผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าการนำน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพมาใช้ปรุงอาหารซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น