สวทน.กระตุ้นเอสเอ็มอีปรับตัวรับต้นทุนพลังงานเพิ่มสูง แนะเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ หาทางเลือกใหม่เพื่อลดต้นทุน วอนรบ.ใหม่ วางยุทธศาสตร์แก้ไขทั้งระยะสั้นและยาว
ผศ. ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและจัดการนโยบายฯ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เผยว่า ปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องเร่งให้ความสำคัญ คือ ต้นทุนสูงจากราคาพลังงานต่างๆ ทั้งราคาน้ำมัน และก๊าซ LPG ปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานลดลง
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ สวทน. ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ พบว่า เอสเอ็มอี มีต้นทุนค่าใช้จ่ายจากวัตถุดิบ 47% แรงงาน 17% การผลิต 12% ขนส่ง 8% ลงทุนเครื่องจักร-เทคโนโลยี 7% การตลาด 5% และวิจัย-พัฒนาเพียง 1% ซึ่งโครงสร้างดังกล่าว พบว่า ต้นทุนที่มาจากค่าพลังงานต่างๆ มีสัดส่วนค่อนข้างสูง ในขณะที่การพัฒนาปรับลดค่าพลังงานยังต่ำ
ดังนั้น เอสเอ็มอีไทยต้องเร่งปรับตัว รองรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต้นทุนในการประกอบธุรกิจ โดยพยายามสรรหาและทดลองพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับธุรกิจของตน เน้นความพร้อมของกิจการทั้งบุคลากร เทคโนโลยี การเงิน ความสม่ำเสมอของพลังงานที่จะลงทุนในอนาคต ผลตอบแทนจากการลงทุน ประกอบการจัดทำแผนธุรกิจสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มผลิตภาพ สร้างนวัตรรมการผลิตลดปริมาณของเสีย การปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และการจัดการระบบขนส่งแบบเครือข่าย ควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการเตรียมพร้อมรองรับตลาดอนาคต (Green Innovation) ตามลำดับ
ในส่วนนโยบายของรัฐบาลใหม่ ระยะเร่งด่วนควรมุ่งเน้นสร้างขีดความสามารถให้แก่เอสเอ็มอี เพื่อสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง และพร้อมรับความเสี่ยงแทนการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ ระยะกลางสร้างปัจจัยสนับสนุนในการแก้ปัญหา โดยการเร่งขยายผลของหน่วยงานปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา SMEs ให้เป็นศูนย์กลางด้านที่ปรึกษาและลงแก้ไขปัญหาทันใจ และระยะยาว ทำโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสำหรับสนับสนุนสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีในการลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมทดแทนการพึ่งพิงปัจจัยทุนและแรงงานเฉกเช่นอดีต
สำหรับเอสเอ็มอีสาขาหลักๆ ที่ต้องเผชิญผลกระทบรุนแรงจากต้นทุนพลังงานปรับขึ้น คือ ประเภทกำไรจากการดำเนินงานต่ำ และมีอัตราใช้พลังงานสูง เช่น แก้วและเซรามิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เยื่อกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กและผลิตภัณฑ์ รองเท้าและเครื่องหนัง สิ่งพิมพ์ และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ตามลำดับ