ผลไม้ ถือเป็นสินค้าเกษตรที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปัญหาของผลไม้ไทยคือผลผลิตที่ออกมามากเกินความต้องการของตลาด การแก้ปัญหาที่ผ่านมา คือ การนำมาแปรรูป สำหรับจังหวัดที่มีผลผลิตผลไม้ออกมามากเป็นอันดับต้นๆ ต้องยกให้จังหวัดระยอง ทำให้ ได้เห็นผลไม้กวนกลายเป็นของดีและของฝากเมืองระยอง
สำหรับผู้ผลิตผลไม้กวนระดับโอทอป 5 ดาว ของจังหวัด ก็ต้องยกให้กับ “นางละออ สุวรรณสว่าง” นักแปรรูปผลไม้ที่อาศัยการทดลองจนได้สูตรการปรุงรสที่แปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา และหนึ่งในนั้นที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จัก ผลไม้กวนของป้าละออ คนนี้เป็นอย่างดี ก็มาจากผลไม้กวนสูตรกะทิ ของแกนั่นเอง
ป้าละออ เล่าว่า ที่มาของสูตรผลไม้กวนกะทิ มาจากการความต้องการของลูกค้าที่ต้องการผลไม้กวน ที่มีรสชาติหวานมัน และประกอบกับตนเองเห็นว่า ลูกค้าชื่นชอบกินทุเรียนกวน เพราะมีรสชาติหวานมัน ทำให้นึกถึงกะทิ และทดลองนำกะทิมาเป็นส่วนผสมในการกวนผลไม้ จนได้สูตรผลไม้กวนกะทิที่ไม่เหมือนใคร และได้ส่งเข้าประกวดผลิตภัณฑ์โอทอป ได้โอทอป 5 ดาว ของอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง
สำหรับผลไม้ที่นำมาใช้กวนกะทิ ได้แก่ สับปะรด และกล้วย เพราะเป็นผลไม้กวนที่ป้าเริ่มทำเป็นอย่างแรก และทำออกขายมากที่สุด เพราะที่สวนของป้าปลูกสับปะรด และกล้วย จึงมีผลผลิตของตัวเองจำนวนมาก ไม่ต้องไปซื้อจากที่อื่น และในบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียง มีการปลูกสับปะรด เพื่อแซมในสวนยางกันเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยว ผลผลิตก็จะมีขนาดที่ทางโรงงานไม่ต้องการก็จะคัดออก ซึ่งนำมาขายปลีก ก็ไม่ได้ราคา ยิ่งช่วงที่ผลผลิตออกมายิ่งขายไม่ได้เลย ทำให้เราต้องมารวมกลุ่มกัน เพื่อแปรรูปทำผลไม้กวนขึ้นมา ซึ่งต่อมาผลไม้กวนสับปะรดและกล้วยไปได้ดี เพราะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นของดี และของฝากของจังหวัด ให้กับนักท่องเที่ยว ทางกลุ่มได้ร่วมกันคิดทำผลไม้กวนชนิดอื่น ทีมีอยู่ในท้องถิ่น ได้แก่ แก้วมังกร มังคุด ทุเรียน มะละกอ และตะไคร้ ฯลฯ
โดยทำออกมาใน 3 รูปแบบ คือ สูตรกวนกะทิ สูตรกวนธรรมดา สูตรบ้วย ดูต้นแบบจากจังหวัดเพชรบูรณ์มีมะขามคลุกบ้วย เราก็เลยเอาสับปะรดกวนมาคลุกบ้วยดูบ้าง ผลตอบรับก็ออกมาดี และก็ยังมีสูตรสับปะรด ซึ่งทำตามอย่างมะขามแก้วแช่นกัน และท็อฟฟี่ ซึ่งในส่วนของท็อฟฟี่ ผสมนมข้นหวานและเนย แต่หลักของผลไม้กวนของป้าละออ คือ กล้วยและสับปะรด ซึ่งในแต่ละวันต้องใช้วัตถุดิบทั้งสองชนิดนี้ประมาณวันละ 200 กิโลกรัม แบ่งเป็นกล้วย 70% ที่เหลือเป็นสัปปะรด 30%
สำหรับช่องทางการขาย มีพ่อค้าคนกลางมารับไปจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง และบางส่วนออกทำตลาดเอง โดยฝากขายตามร้านขายของฝากทั่วไป รวมถึงร้านขายของฝากในปั้มน้ำมัน ในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง เช่น นครราชสีมา
โดยราคาขายส่งตัวแทนจำหน่ายกิโลกรัมละ 80 บาท แต่ถ้าไปส่งขายหรือฝากขายตามร้านทั่วไป ขายกิโลกรัมละ 100 บาท ที่ส่งตัวแทนราคาถูกกว่าเพื่อว่าจะได้ไปกระจายสินค้าให้เราอีกครั้งหนึ่ง กำไรที่ได้ประมาณ 30% ส่วนหนึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับราคาวัตถุดิบผลไม้ว่ามีราคาในช่วงนั้นเท่าไหร่
ส่วนผลไม้ที่นำมากวน จำนวน 10 กิโลกรัมจะได้ออกมาเป็นผลไม้กวนประมาณ 3 กิโลกรัม ส่วนสูตรการกวนผลไม้กะทิ จะใช้ผลไม้ 10 กิโลกรัม ต่อกะทิ 5 กิโลกรัม น้ำตาลทราย ครี่งกิโลกรัม และเกลือ 1 ช้อนชา เติมแบะแซ 1 กิโลกรัม เพิ่มความเหนียว ใช้เวลากวนประมาณ 12 ชั่วโมง ปัจจุบันมีเครื่องกวนอยู่ประมาณ 6 เครื่อง ส่วนหนึ่งได้รับงบจากที่องค์การบริหารส่วนตำบลให้การสนับสนุน เพราะเราเป็นกลุ่มแม่บ้าน
การทำงานของกลุ่ม ปัจจุบันสมาชิกเองก็ไม่ได้มาทำงานตรงนี้ เพราะมีงานประจำในการทำสวนยางและสวนผลไม้ ดังนั้นจะมีเพียงสมาชิกบางส่วนที่มาทำ และเราก็จะจ่ายเป็นค่าแรงไปในแต่ละวัน รายได้หักค่าใช้จ่าย จ่ายให้กับสมาชิก ซึ่งผลไม้บางส่วนรับมาจากสมาชิกด้วยในราคายุติธรรม แต่ปัจจุบันราคาผลผลิตผลไม้ราคาดี เราก็จะซื้อในราคาซื้อ ขายทั่วไป หรือถ้าผลผลิตราคาตกต่ำ แต่เราก็ช่วยไม่ได้กดราคา ซื้อตามราคาขึ้นลงของท้องตลาด
ป้าละออ เล่าว่า ปัจจุบันมีได้มีการขยายตลาดเข้าไปขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต ทำให้เราจำเป็นจะต้องปรับเพคเกจจิ้งให้ดูน่าซื้อมากขึ้น และเพื่อให้เหมาะแก่การเป็นของฝาก เช่น การทำกล่องกระดาษออกแบบโลโก้ ให้ดูน่าซื้อ หรือ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นของชะลอมมาเป็นภาชนะใส่ผลไม้กวน ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลไม้กวน และยังช่วยให้ขายได้ง่ายขึ้น สำหรับในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการของฝาก
ในส่วนของรสชาติ ก็คงจะไม่ต้องปรับอะไร เพราะทำมานานกว่า 20 ปี ลูกค้าค่อนข้างพอใจกับรสชาติที่เราทำออกมา แม้ว่าจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ลูกค้าก็จะให้การตอบรับดีมาตลอด ทำให้เราก็ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ ที่ชื่นชอบรสชาติที่แตกต่างกัน ซึ่งเพิ่มทางเลือกครอบคลุมกลุ่มลูกค้าที่ชอบรสชาติแตกต่างกัน
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
โทร. 038-641-046