สศอ. ชี้แนวโน้มการขายตัวอุตสาหกรรมปี 2554 ยังขยายตัวได้ดี แต่อาจไม่หวือหวา เชื่อตลาดอาเซียนยังสดใส ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์มาแรงครองตลาดส่งออกอันดับต้น
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. ออกมาวิเคราะห์แนวโน้มอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในปี 2554 ว่า ปีกระต่ายทองภาคอุตสาหกรรมไทยมีโอกาสขยายตัวได้สูงอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่หวือหวาเท่ากับปี 2553 ที่ขยายตัวได้ 12-13% เนื่องจากฐานตัวเลขที่ขยายตัวสูงหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่จะเป็นการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด
ทั้งนี้ สศอ.คาดว่าอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 6-8% อัตราการใช้กำลังการผลิตจะอยู่ในระดับสูงเฉลี่ย 64-66% โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดอาเซียนด้วยกันมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง ทำให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมจะมีการขยายตัวอย่างมีคุณภาพและมีเสถียรภาพมากขึ้น หากไม่มีปัจจัยภายนอกอื่นมากระทบ
โดยปัจจัยภายในประเทศนั้นยังมีทิศทางที่ดี ทั้งการลงทุนของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนจะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมา การจ้างงานในระบบจะมีอัตราการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่เป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปทั่วโลก อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการขยายตัวมีหลายสาขา เช่น การผลิตรถยนต์คาดว่าจะสามารถผลิตได้ประมาณ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 12.50% จำหน่ายในประเทศประมาณ 800,000 คัน ส่งออกประมาณ 1 ล้านคัน อุตสาหกรรมอาหารแม้จะประสบปัญหาทางด้านวัตถุดิบแต่ก็คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.3 ขณะที่อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
นางสุทธินีย์ กล่าวถึง ภาพรวมการส่งออกปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกรวม 195,311.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 28.1% โดยสินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่าการส่งออก 150,090.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 28.9% และหากไม่รวมทองคำแท่งมีการส่งออกขยายตัว 29.7% โดยเป็นผลมาจากตลาดอาเซียนที่ขยายตัวดี คือขยายตัว 33.1% ขณะที่ตลาดจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(27) และสหรัฐอเมริกาที่มีการปรับขยายตัวร้อยละ 30.8, 41.9, 30.4, 22.4 และ23.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยสินค้าอุตสาหกรรมสาคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักทำให้การส่งออกขยายตัวเป็นสินค้าในกลุ่มยานยนต์ เครื่องอิเล็คทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ รวมถึงสิ่งทอ ก็ปรับขยายตัวได้ดี