‘ปิยะพันธ์ ถาวรกิจ’ ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่ยึดอาชีพขายไอศกรีมมะพร้าวอ่อน สร้างจุดขายรสชาติอร่อยจากน้ำมะพร้าวล้วนๆ โดยไม่ผสมครีม เสิร์ฟในภาชนะเก๋อย่างกะลามะพร้าวอ่อน และถ้วยดินเผารูปเรือ รูปปลา และรูปใบไม้ อาศัยช่องทางขายตามงานแสดงสินค้า
“เราเคยทำหอพักมาก่อน แต่ช่วงนั้นเศรษฐกิจไม่ดีก็เลยเลิก เห็นว่าอยู่ว่างๆ ก็เลยลองมาค้าขายดู เริ่มจากทำขนมสาลี่ก่อน เป็นสาลี่โรยเผือก โรยข้าวโพด โรยสับปะรด ถือว่าเป็นเจ้าแรกก็ว่าได้ที่ทำขนมสาลีผลไม้” ปิยะพันธ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการหันมาทำอาชีพค้าขาย
ธุรกิจดังกล่าวได้การตอบรับอย่างดี แต่น่าเสียดายขายขนมสาลี่ได้เพียงประมาณ 4 ปี ก็ต้องเลิกขาย เพราะไม่มีคนงานคอยช่วย
“การทำขนมสาลี่ต้องมีคนช่วย พอดีตอนนั้นลูกน้องเข้าๆ ออกๆ บ่อยมาก ก็เกิดความเบื่อหน่าย อีกอย่างคือ สามีที่ทำงานประจำอยู่ก็ต้องคอยมาช่วยเรา ต้องขับรถไปส่งตามงานต่างๆ ช่วยยกของ ก็เลยตัดสินใจเลิกขาย”
แม้จะต้องเลิกขายขนมสาลี่ไป แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปิยะพันธ์จะหยุดทำอาชีพค้าขาย เพราะปัจจุบันเธอหันมาทำไอศกรีมมะพร้าวอ่อนออกขายตามงานแสดงสินค้าต่างๆแทน
“ถึงวันนี้ก็ประมาณ 4 ปีแล้วที่หันมาทำไอศกรีมมะพร้าวอ่อนขาย ซึ่งเป็นไอศกรีมที่ไม่ใส่ครีม ใช้น้ำมะพร้าวล้วน ลักษณะไอศกรีมเป็นเนื้อทราย ทานแล้วให้ความสดชื่น สามารถทานเป็นเจได้ นี่คือจุดขายของเรา”
ปิยะพันธ์ยังสร้างจุดขายให้กับสินค้าของเธอด้วยการใช้ภาชนะใส่ไอศกรีมเป็นกะลามะพร้าวอ่อน และถ้วยดินเผารูปเรือ รูปปลา และรูปใบไม้ แทนที่จะเป็นถ้วยพลาสติกธรรมดา ซึ่งเข้ากับกระแสลดโลกร้อนอีกด้วย
สำหรับราคาขาย ถ้าใส่ถ้วยกะลามะพร้าว ถ้วยละ 20 บาท ถ้าใส่ในถ้วยดินเผา ราคา 25 บาท แต่ถ้าเป็นถ้วยพลาสติกคิดราคา 15 – 20 บาท
“การทำไอศกรีมเราจะทำมาจากที่บ้าน โดยเราจะเป็นคนจัดเตรียมวัตถุดิบแช่เย็นไว้ให้ลูกน้อง เวลาจะผลิตเขาก็จะดึงออกมาทำได้เลย จึงทำให้ทุกถังมีมาตรฐานเหมือนกันหมด โดยวันแรกของการออกงาน เราก็พอจะดูออกว่ามันจะขายดีหรือไม่ดี ซึ่งวันแรกจะลงไอศกรีม 2 ถังก่อน แล้วทำเผื่อไว้ที่บ้านอีก 1-2 ถัง ถ้าไม่หมดก็ไม่เป็นไร เพราะมันไม่เสีย ส่วนวันไหนที่ขายดี ตักไม่ทันวันรุ่งขึ้นจะต้องเตรียมไอศกรีมมาเพิ่ม โดยเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ต้องเตรียมมาเยอะหน่อย”
แล้วถามว่า ปิยะพันธ์ มีหลักในการเลือกออกงานแสดงสินค้าอย่างไร เธอบอกว่า 1.ต้องดูว่างานนั้นมีการประชาสัมพันธ์ดีไหม ถ้างานไม่มีการประชาสัมพันธ์ คนไม่รู้ ก็มีคนมาเดินเที่ยวงานน้อย ก็จะทำให้ขายสินค้าได้น้อยตามไปด้วย และ 2.ต้องดูทำเลในการตั้งร้าน ต้องไม่อยู่ในซอกเกินไป ไกลคนเกินไป
“ถามว่าเรารู้ว่ามีการจัดงานแสดงสินค้าได้อย่างไร ส่วนหนึ่งจะมีออร์แกไนซ์มาเดินตามงานที่เคยไปออก แล้วจดชื่อเรา ชื่อร้าน และเบอร์ติดต่อเอาไว้ เมื่อมีงานเขาก็จะโทรมาแจ้งให้ไปออก
อีกช่องทางหนึ่งก็รู้จากพ่อค้าแม่ค้าที่เคยไปออกงานด้วยกัน บอกต่อๆกันว่าจะมีงานตรงนี้นะ ให้รีบไปติดต่อ หรือบางครั้งก็มีลูกค้ามาชักชวนให้ออกงานที่ทางหน่วยงานเขาทำงานอยู่จัดขึ้น”
ปัจจุบันปิยะพันธ์จะเลือกออกงานแสดงสินค้าที่มีระยะเวลาประมาณ 5 – 10 วัน ทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยรัศมีในการออกงานจะครอบคลุมอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่ถ้าไกลมากๆก็จะไม่ไป เพราะไม่คุ้มกับค่าที่
“ถ้าไปออกงานของหน่วยงานราชการส่วนใหญ่จะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นงานที่จัดโดยภาคเอกชนจะมีค่าใช้จ่าย อย่างที่เคยไปออกที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ค่าที่วันละ 2,000 บาท ก็พอขายได้ แต่ไม่เวิร์คเท่าไหร่ คือร้านที่ออกตอนนั้นมันเยอะด้วย งานไหนที่มีสินค้าซ้ำๆกันมันก็แชร์กัน แต่ถ้ามีร้านเดียว ยอดขายก็จะดี เราไปออกแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่ไปออกอีกเลย เพราะค่าที่แพง ส่วนที่เมืองทองธานี เคยไปออกงานโอทอปขายดีมาก แล้วที่งานสมุนไพรก็ขายดี งานนี้ค่าที่ตกประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าค่าที่แพงมากจะเป็นลักกษณะแจมกับเพื่อนที่ขายสินค้าอีกประเภทหนึ่ง เพื่อช่วยกันหารค่าบูธ”
ปิยะพนธ์ บอกว่า การออกงานแสดงสินค้า ถ้ามีงานดีๆเดือนละ 2 ครั้ง ก็อยู่ได้แล้ว ส่วนในกรณีที่งานชนกัน ถ้าตรงกับวันเสาร์ อาทิตย์จะแยกสายให้สามีไปขาย หรือบางทีก็ต้องจ้างลูกน้องไปขายเฉพาะ หรือไม่ก็ให้เพื่อนฝูงที่หยุดงานมาช่วยขาย แต่ก็มีไม่บ่อย พยายามจะเลี่ยง ถ้าไม่จำเป็น คืองานนั้นมองแล้วว่าได้จริงๆ หรือเป็นงานที่ไม่เสียเงินทั้งสองงานเลย ถึงจะไป
“งานที่เราเคยขายไอศกรีมได้มากที่สุด คือ งานเพื่อนพึ่งภาฯยามยากที่วังสวนกุหลาบ จัด 6 วัน ขายดีมาก วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ขายได้วันละประมาณ 10 ถัง ส่วนวันธรรมดาขายได้ 7 – 8 ถัง ส่วนการออกงานในช่วงนี้ เนื่องจากฝนตกบ่อย ทำให้ขายได้ไม่ดีนัก อย่างตอนไปขายที่งานพฤกษานนท์ ก็มีคนมาเที่ยวงานไม่มาก แต่ก็โอเค งาน 10 วัน วันหนึ่งขายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 – 5,000 บาท มันก็ยังได้อยู่”
สุดท้ายปิยะพันธ์ แนะนำแม่ค้าหน้าใหม่ที่จะมาออกงานแสดงสินค้าว่า “ในครั้งแรกๆต้องอดทนมากๆ กับการที่ว่าบางงานก็ได้ บางงานก็ขายไม่ดีนัก และมันก็ขึ้นอยู่ที่สินค้าเราด้วยว่าจะโดนใจลูกค้าแค่ไหน ในยุคนี้แนะนำว่าควรขายของกินหรือสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันจะไปได้ดีกว่า เพราะลูกค้าเขาระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น”
***ข้อมูลจาก นิตยสาร SME Today ฉบับที่ 80 ประจำเดือนมิถุนายน 2552 ***