xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง เจ้าสัว – CEO ปีหน้าเผาทั้งเป็นจริงหรือ? จะรับมือกันอย่างไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในปี 2551 นี้ต้องยอมรับว่า เป็นปีที่สาหัสสำหรับภาคธุรกิจไทย เพราะตั้งแต่ต้นปีก็ต้องเจอกับปัจจัยลบทางเศรษฐกิจในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจนทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล (แต่โชคดีที่ตอนนี้ปรับลดลงมาแล้ว)

การแข็งค่าของเงินบาทที่เกือบแตะระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนัก (ตอนนี้ค่าเงินอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ประมาณ 35 บาท/ดอลลาร์แล้ว)

ถัดมาก็เป็นปัญหาซับไพร์มที่เป็นต้นเหตุทำให้สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาล้ม ลามไปยังยุโรป และเอเชีย ส่งผลให้ภาคการเงินของโลกปั่นป่วน จึงคาดกันว่าในปีหน้าโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างแน่นอน

ไม่เพียงเท่านั้น เพราะภาคธุรกิจไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายในประเทศ อย่างปัญหาทางด้านการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการชะลอกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะจบเมื่อไหร่ และอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้รู้ในแวดวงธุรกิจไทยต่างออกมาฟันธงกันว่า ในปี 2552 จะเป็นปีแห่งการเผาจริงของภาคธุรกิจไทย

แต่จะเป็นปีเผาจริง เผาหลอก หรือเผาทั้งเป็นหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญ คือ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ ได้รวบรวมมุมมองของบรรดาบุคคลระดับนำทั้งในภาคการเงิน การตลาด และการผลิต เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคธุรกิจใช้ในการปรับตัวต่อไป

********************************************
บัณฑูร ล่ำซำ
ปีหน้าเจอ 2 เด้ง ทั้งเศรษฐกิจ – การเมือง

ไปเริ่มกันที่ “บัณฑูร ล่ำซำ’ นายใหญ่แบงก์กสิกรไทย

บัณฑูร กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเสียอีก และปีนี้น่าจะเป็นคริสต์มาสของความโศกเศร้าในซีกโลกตะวันตก ซึ่งยังไม่จบ เพราะตอนนี้เริ่มเห็นบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกามีปัญหาแล้ว

“ในรอบนี้จะบอกว่าไทยไม่โดนผลกระทบก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะการค้ามันเกี่ยวโยงกันหมด คนที่เคยซื้อของจากเรา เขาก็หมดกำลังซื้อ ก็คงกระทบกันโดยถ้วนหน้า

แต่จะล้มระเนระนาดก็คงไม่ใช่ เพราะประเทศไทยในรอบนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่ามีฟองสบู่ ส่วนหนึ่งถือเป็นการเรียนรู้บทเรียนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตัวสถาบันการเงินเอง หรือธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำกับเข้มในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา”

แต่อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกไทยคงได้รับผลกระทบบ้างในส่วนของสินค้าที่เกินความจำเป็น เช่น รถยนต์, เสื้อผ้า, ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น แต่สินค้าที่มีความจำเป็น อย่างอาหารที่มีราคาไม่แพง เช่น ปลากระป๋อง กุ้งกระป๋อง นอกจากการส่งออกไม่ถดถอยแล้ว ยังน่าจะส่งออกได้มากขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ผู้ประกอบการที่มองเห็นแนวโน้มดังกล่าว และได้ปรับตัวไปบ้างแล้ว ด้วยการหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดหลักที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้

“ผมคิดว่า 10 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นความก้าวหน้าของสังคมธุรกิจไทยในระดับหนึ่ง นั่นคือ ไม่ทำอะไรเกินตัว อาจเป็นเพราะเราได้ซึมซับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงไว้ ฉะนั้นเวลามีคลื่นลูกใหญ่มา เราจึงถูกกระทบบ้าง แต่ไม่ถึงกับล้ม”

ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงกันว่า นักลงทุนต่างชาติจะโยกย้ายเงินลงทุนระยะยาวไปที่อื่น บัณฑูร กลับมองว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่ยังคงเลือกประเทศไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนรถยนต์ แต่อาจจะเลื่อนการลงทุนไปก่อน เนื่องจากต้องการรอให้สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนิ่งก่อน

“คือ ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ ประเทศไทยยังถือว่าน่าสนใจลงทุนในระยะยาว”

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ คือ 1. ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา 2. ต้องทบทวนสินค้าและบริการว่ามีคุณสมบัติเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ และ 3. ต้องกระจายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ ให้มากขึ้น
และเนื่องจากในปีหน้า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้สถาบันการเงินต้องเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ดังนั้น SMEs จะต้องมีหน้าที่พิสูจน์ให้สถาบันการเงินเห็นว่า รูปแบบธุรกิจของตัวเองไปได้

“ระหว่างวิกฤตเศรษฐกิจโลกกับการเมืองในประเทศ ถามว่าอย่างไหนมีความเสี่ยงมากกว่ากัน มันก็เสี่ยงคนละแบบกันนะ เศรษฐกิจโลกมันฉุดกำลังซื้อ และประเทศไทยก็อยู่ได้ด้วยการขายของให้กับโลก ฉะนั้นเมื่อไม่มีกำลังซื้อ ก็ทำให้ผลประกอบการบริษัทต่างๆไม่ดี

ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่แพร่ไปทั่วโลกนั้น ทำให้นักลงทุนหลายประเทศมีการชะลอการลงทุนในไทย ถึงแม้ว่าไม่ได้เปลี่ยนใจที่จะมาลงทุนในระยะยาวก็ตาม ขณะเดียวกันก็จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลไม่เป็นไปตามปกติ มันก็เสียหายอีกแบบหนึ่ง”

สรุปว่า นายใหญ่แบงก์กสิกรไทย ชี้ว่า ปีหน้าประเทศไทยจะเจอ 2 เด้ง ทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลก และปัญหาการเมืองในประเทศ แต่ธุรกิจคงไม่ถึงกับตาย ถ้า...(โปรดย้อนกลับไปอ่านตอนต้น)

***********************
ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ฟันธงรอด – ไม่รอดอยู่ที่ฝีมือรัฐบาล

ขณะที่ ‘ณรงค์ชัย อัครเศรณี’ ประธาน EXIM BANK (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย) ฟันธงเลยว่า “การเมืองเฮงซวย” เป็นเงื่อนไขชี้เป็นชี้ตายของประเทศไทย

“วิกฤตการเงินโลกที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยยังไม่มี หนี้ต่างประเทศระยะสั้นเราก็ต่ำ ประกอบกับเรามีรัฐบาลขิงแก่ ที่บอกว่าไม่อยากทำอะไรเลยมาปีกว่า มันก็เลยไม่เกิดหนี้ เกิดภาระการใช้จ่ายใดๆ ตอนนี้ก็ต้องขอบคุณเขา

นอกจากนั้นที่มีคนวิจารณ์กันเยอะว่า คุณทักษิณ ชินวัตร ทำให้การเมืองวุ่นวาย เลยไม่มีความมั่นใจในการลงทุน เมื่อไม่เกิดการลงทุน ก็ต้องขอบคุณเขาเหมือนกันที่ทำให้การเมืองวุ่นวาย เราก็เลยไม่เป็นไร

ฉะนั้นเราพูดได้ว่าการเมืองที่ผมใช้คำว่า การเมืองเฮงซวย ก็ช่วยเศรษฐกิจไทยเอาไว้ได้ เพราะถ้าการเมืองเรารุ่งเรืองเหมือนเกาหลีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้เราก็คงลำบากเหมือนกัน”

นี่คือมุมมองของณรงค์ชัย ที่สรุปได้สะใจว่า ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโลกมาได้ก็เพราะความวุ่นวายทางการเมืองนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะภาคการส่งออก กลุ่มสินค้าที่พึ่งพิงสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นตลาดหลักจะได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป, กุ้งแช่แข็ง, เฟอร์นิเจอร์, อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีตลาดส่งออกอยู่ในเอเชีย แต่ประเทศคู่ค้าจะส่งสินค้าไปขายต่อให้กับตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปอีกทอดหนึ่ง ก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อมเช่นกัน

“ผู้ส่งออกจะเจอปัญหาหลายๆ เรื่อง สมัยก่อนผู้ส่งออกจะเจอแค่ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ย แต่เดี๋ยวนี้สิ่งที่เพิ่มเข้ามา คือ ตลาดเงินมีสภาพตึงตัว ผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า เข้าถึงแหล่งทุนยากขึ้น คำสั่งซื้อลดลง

ฉะนั้นสิ่งที่เห็นในตอนนี้ ทุกคนต่างพยายามปรับตัวเพื่อความอยู่รอด หาวิธีประกันการส่งออก ดูแลระดับการผลิต บริหารความเสี่ยง ก็ต้องทำกันไป

นอกจากนี้ ยังต้องไปหาตลาดใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ไม่มากนัก และต้องสร้างโอกาสในขณะที่จีนมีปัญหา อันนี้ก็เป็นโอกาสที่เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต”

แล้วณรงค์ชัยก็ฟันธงว่า นโยบายภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประทศ อาทิ มาตรการด้านภาษี การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

มาตรการด้านการเงิน การลดอัตราดอกเบี้ย, การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความเหมาะสม

มาตรการด้านการลงทุน การเพิ่มประเภทกิจการที่จะส่งเสริม

รวมถึงการเร่งขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ (เมกะโปรเจ็กต์) เป็นต้น

“จริงๆแล้วภาครัฐอยู่ในฐานะที่จะทำมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายจนเกินไป คือ มีทั้งฐานะและช่องทางที่จะทำได้ด้วย ส่วนรัฐบาลจะทำได้แค่ไหน อย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อไป”

ตรงประเด็นจริงๆ
*****************************

ชาตรี โสภณพนิช
วิกฤตโลกไม่น่าห่วงเท่าการเมือง

‘ชาตรี โสภณพนิช’ เจ้าสัวแบงก์กรุงเทพ เป็นอีกคนที่ไม่อ้อมค้อม ชี้ว่า ปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวลมากที่สุดในขณะนี้ คือ ปัญหาทางการเมือง เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และวิกฤตสถาบันการเงินโลกครั้งนี้ก็ส่งผลกระทบต่อไทยไม่มาก

“ประเทศไทยโชคดีที่มีการกู้เงินจากต่างประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาถือว่าน้อยมาก ทำให้วิกฤตที่มาถึงเมืองไทยไม่มีความรุนแรงมากนัก ปีหน้าคงไม่ใช่ปีที่ดี อาจจะเหมือนปีนี้หรือเลวร้ายกว่าปีนี้ด้วยซ้ำ

ดังนั้น ภาคการเมืองต้องสงบและมีนโยบายที่ชัดเจน

ส่วนปัญหาวิกฤตทางการเงินโลกครั้งนี้คงไม่ถึงเรา สภาพคล่องของไทยก็ยังไม่มีปัญหา ที่มีปัญหาคือการเมืองภายในมากกว่า”

ชาตรี ย้ำอีกว่า ในปี 2552 ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร จะขึ้นอยู่กับการเมืองเป็นหลัก เพราะหากปัญหาการเมืองมีข้อยุติและสงบลงได้ หากรัฐบาลมีนโยบายที่ดีและสามารถนำพาเศรษฐกิจให้มีการลงทุนต่อไปได้ เศรษฐกิจไทยก็เติบโตต่อไปได้

แต่หากนโยบายภาครัฐไม่ชัดเจน คนที่ต้องการลงทุนก็ต้องคิดหนัก

***************************
วิรไท สันติประภพ’
คัมภีร์ฝ่าวิกฤต – อย่าเล่นกับไฟ

‘วิรไท สันติประภพ’ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ แบงก์ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจโลกว่า เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ส่วนกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง

ภาวะดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน ซึ่งวิกฤตการณ์ที่ได้เกิดขึ้นกำลังเปลี่ยนจากวิกฤตการณ์การเงินไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่ขยายวงกว้าง

อย่างไรก็ดี โครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และระบบสถาบันการเงินไทยในขณะนี้ มีความเข้มแข็งกว่าเมื่อปี 2540 มาก

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตในปัจจุบัน ภาคธุรกิจควรจะเตรียมตัวรับมือกับความผันผวนด้านต่างๆ ด้วยการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ รัดกุม โดยจะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสภาพคล่องและความเสี่ยงของธุรกิจ เช่น การจัดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอย่างเหมาะสม, การดูแลฐานะเงินสดของกิจการให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ, การกระจายความเสี่ยง และการประกันความเสี่ยง

ตลอดจนให้ความสำคัญต่อเรื่องเอกสารการค้า และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง เช่น การเก็งกำไรในตลาดเงิน หรือการเก็งกำไรราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น
 
***********************************
ตัน ภาสกรนที
โตบนซากเศรษฐกิจ แนวคิดหาโอกาสของ ‘ตัน โออิชิ’

ถ้าไปฟัง ‘ตัน ภาสกรนที’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โออิชิ กรุ๊ป พูดในงานสัมมนา CEO Forum ซึ่งจัดโดยฐานเศรษฐกิจ ก็จะอีกอารมณ์หนึ่ง

ตันยอมรับว่า ปีนี้ปัจจัยลบที่น่ากังวลมากที่สุดมาจากนอกประเทศ โดยเฉพาะวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย และเชื่อว่าจะลามถึงเศรษฐกิจไทยที่ยังมีปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองรุมเร้าอยู่ในขณะนี้

“ผมว่าปีนี้แย่มากๆ และปีหน้าก็แย่ยิ่งกว่านี้อีก และต่อไปก็จะแย่ลงเรื่อยๆ คือ ตั้งแต่ทำธุรกิจ ผมยังไม่เห็นปีไหนที่ดีเลย สรุปแล้ว คือ ปีหน้าเขาบอกว่า เผาทั้งเป็น

แต่ถ้าถามผมว่ากลัวอะไร การเมืองในประเทศ หรือเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ผมไม่กลัว สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ความเชื่อในใจเรา

เพราะผมเห็นอยู่เสมอเลยว่า ทุกวิกฤตมีคนประสบความสำเร็จ ในสงครามก็มีคนประสบความสำเร็จ อย่างเมื่อกี้ผมโทรกลับไปเช็คยอดขาย ปรากฏว่าเดือนตุลาคมปีนี้เป็นเดือนที่มียอดขายสูงสุดในรอบ 10 ปี ฉะนั้นในปีนี้ก็เป็นปีที่มียอดกำไรมากสุดในรอบ 10 ปีเหมือนกัน”

สรุปว่า ตันบอกว่า ปีหน้ามีปัญหาแน่ แต่ในวิกฤตก็มีโอกาส

ตัน บอกอีกว่า หากธุรกิจต้องการลดต้นทุน (ซึ่งหลายๆคนก็บอกว่า ปีหน้าต้องลดต้นทุนรับวิกฤต) บริษัทส่วนใหญ่มักใช้วิธีการตัดงบโฆษณา ซึ่งสวนทางกับวิธีการทำธุรกิจของเขา ดังนั้น ที่มาของยอดขายสูงสุดในรอบ 10 ปี ก็มาจากการทุ่มงบโฆษณาทำหนัง 10 เรื่องพร้อมๆ กันในช่วงนี้นั่นเอง

ขณะที่แนวทางการทำธุรกิจในปีหน้า ตันบอกว่า จะยังคงใช้งบการทำตลาด 12% จากยอดขายเหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา และพยายามปรับรายได้กลุ่มอาหารเพิ่มขึ้นในสัดส่วนใกล้เคียงกับเครื่องดื่มเป็น 50 ต่อ 50

ตัน ขยายหลักคิดในการทำธุรกิจในภาวะวิกฤตของเขาว่า

“ผมเปรียบการทำธุรกิจเหมือนการชกมวย ถ้าผมขึ้นเวที ผมจะเป็นมวยที่ขึ้นไปแล้วไม่ต่อย ให้คุณต่อยก่อน แต่ผมพยายามป้องกันตัวให้เต็มที่ แต่เมื่อไหร่ที่คุณหมดแรงปุ๊บ ผมชกคุณเลย คือเป็นมวยรับ ไม่ใช่มวยรุก แต่ถ้ารุกนี่ต้องชกให้เขาลงเลย

ตอนที่เศรษฐกิจดี มันจะเป็นการแข่งขันกันแบบเงินเยอะ พวกที่มีความเชื่อมั่นแบบนี้จะมา แต่พอวิกฤตปุ๊บ บางคนเขาจะหยุด ผมจะถนัดทำตอนที่คนอื่นเขาหยุด

ฉะนั้น ถามว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร ผมมองว่าต้มยำกุ้งมันเฉพาะเมืองไทย ใกล้ตัวเรา เพราะว่าจริงๆแล้วเราไม่ได้อยู่ด้วยเศรษฐกิจของเราเอง แต่เราอยู่ด้วยเงินต่างประเทศ ฉะนั้นเที่ยวนี้น่ากลัวมากๆ แต่มันจะเป็นโอกาสทองของบางคนที่มีความเชื่อมั่นนะครับ”

ทั้งนี้ จากบทเรียนการเป็นหนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ทำให้ทุกวันนี้ตันหันมาทำธุรกิจด้วยเงินสด มีเงินเท่าไหร่ก็ลงทุนเท่านั้น จึงทำให้เขาเป็นนักธุรกิจอีกคนหนึ่งที่ไหวตัวทัน เมื่อเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

“ตอนนี้กลายเป็นผมไม่มีความเสี่ยง แต่คำถามต่อไป คือ เราควรจะอยู่แบบไหน จะปรับตัวอย่างไร ปีที่แล้วผมซื้อของเซ็นสัญญา 6 เดือนถึงปีเลย แต่ตั้งแต่กลางปี 2551 ที่ผ่านมา ผมซื้อเดือนต่อเดือน วันต่อวันได้ยิ่งดี

ปีที่แล้วผมได้กำไรจากการจัดซื้อล่วงหน้า ซึ่งผมเซ็นสัญญากับซีพีตอนหมูราคา 100 กว่าบาท ผมซื้อ 60 บาทเอง บางทีนักธุรกิจต้องเปลี่ยนเร็ว เพราะบางทีธุรกิจจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ช่วงวิกฤตนี่แหละ ถ้าเรายุ่งๆ ก็พลาดโอกาส เงินอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด เพียงแต่เราอย่าเบลอ มีสติหน่อยก็จะเห็น”

ดังนั้น ต้องบอกว่า จังหวะ หรือ Timing คือ สิ่งที่ตันยืนยันว่าสำคัญที่สุด ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากการอ่านหนังสือ การร่วมงานสัมมนา หรือพูดคุยกับคนเก่งๆ

“สำหรับผมๆสนใจเรื่องความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จเสียอีก เวลาผมคุยกับนักธุรกิจ ถ้าผมสนใจธุรกิจอะไร ผมมักจะถามเลย

สมมติตอนนี้ผมจะทำเรียลเอสเตท ผมต้องการรู้ว่าวิกฤตของธุรกิจนี้ ปัญหาจริงๆ ตอนที่เสียหายมาจากอะไร เราต้องรู้ว่าเมื่อไหร่มันจะล้ม เมื่อไหร่ที่อันตราย ซึ่งสำคัญกว่าเมื่อไหร่มันจะรวย อันนั้นคุณเลียนแบบเขาไม่ได้หรอก แต่ล้มเหมือนกันหมดเลย วิกฤตมาเหมือนกันเป๊ะ ลงทุนเกินตัว เหมือนกันหมดเลย” ตัน กล่าวทิ้งท้าย

หมายความว่า ตันกำลังบอกว่า ต้องตื่นตัวกับวิกฤต แต่อย่าตระหนก ถ้าเล่นเป็น ก็ยังอยู่ได้ และบางทีโตต่อได้อีกด้วย
 
*********************************
สมบุญ ประสิทธิ์จูตระกูล
จ่ายช้า – เก็บเร็ว – ลดสต็อก

‘สมบุญ ประสิทธิ์จูตระกูล’ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย และประธานอำนวยการประเทศไทย บริษัท ดีทแฮล์ม ผู้ทำตลาดและกระจายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ บอกว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจประเทศไทยในภาพรวมจะเข้าสู่ยุคถดถอย ซึ่งต่อเนื่องมาจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในปีนี้

แต่เจ้าของสินค้าที่ยังมีทุนมากอยู่ ควรดำเนินกิจกรรมตลาดปกติ ไม่ควรตัดลดงบโฆษณาประชาสัมพันธ์ทำตลาดแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้นๆ เพื่อรักษายอดขายไว้

ขณะที่เจ้าของสินค้ารายอื่นที่มีทุนไม่มากพอ และอาจหยุดการทำตลาดไปมากกว่า 50% จากภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้เจ้าของสินค้าหรือนักการตลาดต้องจับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารการเงินเพื่อสร้างเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ประกอบด้วย 3 สูตร คือ 1.จ่ายเงินช้าลง 2.เก็บเงินเร็วขึ้น และสุดท้าย 3.ลดสินค้าคงคลัง (สต๊อก) โดยถือให้น้อยลง เพื่อประกันการกู้เงินลดลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

“แนวโน้มปีหน้า คาดว่าจะเห็นความชัดเจนจากธนาคารพาณิชย์เอกชนที่จะปล่อยสินเชื่อเงินกู้ยากขึ้น แต่สถาบันการเงินภาครัฐจะถูกบังคับให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวแทนซึ่งเริ่มผลักดันอยู่ รวมถึงมีโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) เกิดขึ้นจำนวนมากในปีหน้า เพื่อนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ”

*************************************
บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
เจ้าสัวฟันธง 2 จุดตาย รัฐบาล – การเมือง

ขณะที่ ‘บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา’ เจ้าสัวเครือสหพัฒน์ มองว่า วิกฤตการเงินโลกไม่ใช่ปัญหาหลักของไทย ในทางกลับกัน ไทยจะหาประโยชน์จากวิกฤตโลกได้ด้วยซ้ำ ถ้าหาเป็น

วิกฤตการณ์ที่เป็นปัญหาทั่วโลกนั้น บุณยสิทธิ์ บอกว่า มีอยู่ 3F คือ F – การเงิน, F – อาหาร, และ F – น้ำมัน

ถ้าเป็น F – การเงิน ในปี 2540 หรือยุคต้มยำกุ้ง ประเทศไทยได้ผ่านพ้นมาแล้ว คล้ายๆ กับว่าไทยมีวัคซีนอยู่ในตัวแล้ว จึงไม่มีปัญหาในส่วนนี้

ส่วน F – อาหาร ประเทศไทยมีอาหารเยอะ ได้เปรียบในเรื่องนี้

แต่ F – น้ำมัน ทั่วโลกมีปัญหาเหมือนกันหมด เรากระทบ คนอื่นก็กระทบด้วย เพียงแต่ว่าประเทศไทยกระทบหนักหน่อย เพราะคนไทยใช้น้ำมันทำทุกอย่าง แต่โชคดีที่เมืองไทยสามารถผลิตไบโอดีเซลขึ้นมาทดแทนน้ำมันได้ ฉะนั้นก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้มากนัก

“ผมมองว่าในช่วง 2-3 ปีที่แล้ว อาจจะเป็นโอกาสของเราด้วยซ้ำ ไม่น่าจะเป็นปัญหา ถ้าเราแก้ได้ตรงจุด เพราะแต่ละตัวไม่ได้หนักหนา เหมือนเรามีวัคซีนติดตัวอยู่แล้ว คนอื่นอาจจะเพิ่งเริ่ม ซึ่งบางประเทศอาจติด F 2 ตัว และ F 3 ตัวบ้าง หรือบางประเทศก็ติดแค่ F ตัวเดียว

แต่เมืองไทยเราโชคดี เราติด F ตัวเดียว และเราก็มีทางแก้ จึงไม่น่าห่วงมากนัก

ส่วนการค้าขายนั้น ต้องมีขึ้นมีลงอยู่แล้ว เรื่องลำบากเป็นเรื่องเล็ก แต่อย่าล้มลงไปเท่านั้นเป็นพอ ถ้าไม่ล้มก็คือความสำเร็จแล้ว การค้าขายก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอน เราแข่งกัน ใครล้มก่อนก็จะแพ้ ถ้าเราไม่ล้มในที่สุดก็จะชนะ ฉะนั้นเราไม่ควรที่จะไปกลัว อดทนไว้”

บุณยสิทธิ์ กล่าวถึงความรุนแรงระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้งกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ว่า วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งจะแตกต่างกัน คือไม่หนักเท่าไหร่ ถ้าแก้ไขได้ถูกจุดกลับจะเป็นโอกาสของประเทศไทยด้วยซ้ำไป

ฉะนั้นการที่หลายคนห่วงว่าปีหน้าจะมีคนตกงานถึง 2 ล้านคน ก็ไม่คิดว่าจะรุนแรงถึงขนาดนั้น

“ถ้าเรามองว่าตลาดมันตก เราก็ต้องชะลอ ไม่ใช่ไปยัดเยียด เพราะถ้ายิ่งไปยัดเยียดทุกอย่างก็ยิ่งขายไม่ได้ ถ้าเรายอมที่จะถอยนิดหนึ่ง ตั้งหลักใหม่ อาจจะเป็นโอกาสสำหรับเราก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มสหพัฒน์ปีนี้ถ้าทำไม่ถึงเป้า ก็ไม่ต้องไปห่วงเท่าไหร่ อันนี้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะว่าข้างนอกเขาแย่กว่าเรา เราถอยนิดหนึ่งก็ยังได้อยู่ แล้วต้องฝึกให้เราเหนือกว่าคนอื่นนิดหนึ่งก็พอ อย่าให้คนอื่นไปไกล แล้วเรายังเฉยๆ อยู่ ไม่ใช่”

สุดท้าย บุณยสิทธิ์ กล่าวฝากว่า ภาครัฐควรดำเนินนโยบายที่ไม่สวนกระแส อย่างเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงนี้ควรจะอ่อน กลับไปทำให้แข็งอย่างนี้ก็สวนกัน ซึ่งจริงๆแล้วหากค่าเงินบาทอ่อนค่ากว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่นในแถบนี้ 10% ก็จะช่วยภาคการส่งออกได้เยอะ

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยก็ต้องต่ำ และต้องลดภาษีนิติบุคคลให้อยู่ที่ 20-25% เพราะไม่เช่นนั้นจะกระตุ้นไม่ขึ้น

แต่ถ้าภาครัฐทำตรงกันข้าม คือ เงินบาทแข็ง ดอกเบี้ยขึ้น ภาษีเก็บเพิ่ม ธุรกิจไทยก็จะลงเหวไปเลย

บุณยสิทธิ์ กำลังบอกว่า เงื่อนไขชี้เป็นชี้ตายของประเทศไทย อยู่ที่รัฐบาลและการเมือง ไม่ใช่เศรษฐกิจโลก
******************************
ศุภจี สุธรรมพันธุ์
ใช้นวัตกรรมรับวิกฤตแทนลดคน

‘ศุภจี สุธรรมพันธุ์’ รองประธานประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจทั่วไป บริษัท ไอบีเอ็ม คอปอเรชั่น กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น บริษัทไม่ได้มองเรื่องลดค่าใช้จ่ายหรือการลดพนักงาน กลับมองไปที่การใช้นวัตกรรมรับวิกฤตมากกว่า เช่น การจัดสรรงบและคนที่เดิมกระจัดกระจายให้มีโฟกัสไปในตลาดที่ชำนาญ แตกต่างจากคู่แข่ง และเป็นตลาดใหม่ที่เติบโต

ล่าสุดก็การนำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยให้องค์กรลูกค้าลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และการปรับปรุงกระบวนการทำงาน

ที่สำคัญเสนอโมเดลใหม่ๆ ที่ไอบีเอ็มจะลงทุนเทคโนโลยีให้ก่อนและคิดค่าใช้จ่ายกับลูกค้าตามธุรกรรมที่ใช้จริง ผ่านบริการ “แมนเนจ บิสิเนส โพรเซส เซอร์วิส (MBPS)” ที่เสนอบริการการจัดซื้อ งานบริหารบุคคล งานบัญชี และคอลเซ็นเตอร์ให้กับลูกค้าองค์กร เพื่อให้ลูกค้ามุ่งใช้เวลาและการลงทุนไปด้วยความชำนาญหลักของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การฝ่าวิกฤตให้ได้ ต้องมีหลักการที่สำคัญ ก็คือ องค์กรต้องมีกระแสเงินสดหมุนเวียนที่ดี การลงทุนยังทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลและมีประสบการณ์ และผู้บริหารต้องมีความรู้สึกที่ฉับไวและตอบสนองรวดเร็ว ทั้งต้องสื่อสารกับพนักงานอย่างต่อเนื่องถึงทิศทางของบริษัท

*********ข้อมูลโดย นิตยสาร SMEs Today ฉบับเดือนธันวาคม 2551*******
กำลังโหลดความคิดเห็น