xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นพิษเศรษฐกิจวัวบ้ากระทบ SMEs โอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนแค่ 1 ใน 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการชี้วิกฤตเศรษฐกิจปีหน้า กระทบโอกาสเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้เพียง 1 ใน 3 จากความต้องการจริง ระบุอาจเลิกจ้างกว่า 1.5 ล้านคน จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินทุนถึงเอสเอ็มอี ด้าน ส.อ.ท. แนะตั้งองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุน จี้รัฐตั้งศูนย์เฉพาะกิจแก้ปัญหาในจุดเดียว

รศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดี NIDA Business School กล่าวในเสวนา “การจัดการวิกฤตของ SMEs ภายใต้นโยบายรัฐบาลใหม่ : มุมมองของ CFOs” ว่า แม้ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย จะได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.75% ทว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินของโลก ทำให้สถาบันการเงินเอกชนไม่มั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะระดับเอสเอ็มอี ทำให้แนวโน้มปีหน้า (2552) เอสเอ็มอีจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากมาก

ทั้งนี้ คาดว่า ปีหน้าเอสเอ็มอีไทยระดับกลาง ที่มีจำนวนกว่า 7 แสนราย มีความจำเป็นต้องการเงินทุนกว่า 6 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง แต่โอกาสจะเข้าถึงแหล่งทุนได้มีเพียง 2 ล้านล้านบาท หรือเพียง 1 ใน 3 ของความต้องการ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจเอสเอ็มอี 2 ใน 3 จากทั้งหมดได้รับผลกระทบรุนแรง และอาจทำให้เกิดการเลิกจ้างงานกว่า 1.5 ล้านคน

รศ.ดร.เอกชัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทกระตุ้นอัดฉีดเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการมากที่สุด โดยเพิ่มงบขาดดุลจาก 3 แสนล้าน เป็น 5-6 แสนล้าน นำไปใช้ในส่วนการก่อหนี้สาธารณะ ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็ค มาตรการลดภาษีต่างๆ ให้เงินกู้ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารออมสิน รวมถึง เงินทุนผ่านหน่วยงานของรัฐ เช่น กองทุนร่วมลงทุนของ สสว. เป็นต้น

นอกจากนั้น ต้องเตรียมพร้อมรับมือการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่ อาจจะจัดหาทุนสำหรับการศึกษาต่อ ป้องกันแรงงานล้นตลาด หรือส่งเสริมนักศึกษาที่มีศักยภาพพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่

ด้าน ดร.นิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ปีหน้า จะรุนแรงกว่าปี 2540 เสียอีก โดยการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของเอสเอ็มอี เบื้องต้นต้องมีสติ และหันกลับมาบริหารจัดการตัวเองให้ดีเสียก่อน ทั้งด้านการเงิน องค์กร และบริหารบุคลากร ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น

ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยเป็นเจ้าภาพรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาทั้งหมด มาตั้งเป็นศูนย์เฉพาะกิจอยู่ในจุดเดียว เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากที่ผ่านมา การทำงานของภาครัฐจะต่างฝ่ายต่างทำ การแก้ปัญหาต่างๆ จึงซ้ำซ้อน และถูกหมักหมมจนยากจะแก้ไขได้รวดเร็วหรือเป็นรูปธรรม

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ภาครัฐควรตั้งสำนักวิจัยระบบอุตสาหกรรม เพื่อเป็นผู้นำในการทำวิจัยขีดความสามารถของแต่ละอุตสาหกรรม ใช้เป็นข้อมูลกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศไทย รวมถึง ให้การสนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า เพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น