xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ธุรกิจ SME ท่องเที่ยวสาหัส พิษการเมืองฉุดออเดอร์ทัวร์หด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ณัฐพล  นิมมานพัชรินทร์   ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ชี้ปิดสนามบิน กระทบ SMEs ท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องสาหัส ทัวร์ยกเลิกถึงกลางปีหน้า เจ๊งกว่า 2 แสนล้าน ทางอ้อม SMEs ถูกบีบให้ผลิตและขายถูก ดันกลับไปเป็น OEM ขณะที่เลิกจ้างกว่า 120,000 ราย

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังงานสัมมนา “ฝ่าวิกฤติปีหนูไฟ อนาคตSMEs ไทย สดใสจริงหรือ?” ว่า ผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมือง โดยเฉพาะการปิดสนามบิน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยทางตรงธุรกิจท่องเที่ยวกลุ่ม SMEs ที่เดิมคาดว่าจะลำบากอยู่แล้ว ปีหน้า (2552) มีแนวโน้มปิดตัวกว่า 3.43% หรือ 375 ราย เมื่อเจอปัญหาดังกล่าวซ้ำเดิมเข้าอีก จากการสอบถามข้อมูลล่าสุด พบว่า คณะทัวร์ต่างๆ ได้ยกเลิกออเดอร์เที่ยวเมืองไทยแล้วจนถึงกลางปีหน้า

และเมื่อรวมความเสียหายของธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็น ภาคบริการ การค้า สปา สินค้าของชำร่วย ที่ระลึก และสินค้าโอทอป ฯลฯ คาดว่า จะสูญเสียรายได้ 1 -2 แสนล้านบาท และหากสถานการณ์ยังยื้ดเยื้อความเสียหายจะมากขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น ผลกระทบทางอ้อม จากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยเศรษฐกิจภายนอกชะลอตัว น่ากังวลว่า ปีหน้าจะเกิดวิกฤตภาคการค้า โดยผู้ค้าปลีกค้าส่งข้ามชาติรายใหญ่ หรือโมเดิร์นเทรดต่างๆ จะแข่งขันด้านสงครามราคาถูก โดยผลักภาระลดต้นทุนมาสู่ผู้ประกอบการ SMEs ภาคผลิตที่ต้องส่งสินค้าเข้าจำหน่ายในสรรพสินค้าเหล่านี้ ทำให้ SMEs ต้องยอมผลิตสินค้าได้กำไรหรือผลตอบแทนน้อยลงกว่าเดิม รวมถึง SMEs บางรายที่ยกระดับตัวเองมาสู่ระดับ ODM โดยมีแบรนด์ของตัวเอง ต้องถูกบีบให้กลับไปสู่ภาค OEM หรือแค่รับจ้างผลิต ได้ผลตอบแทนน้อยอีกครั้ง

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ด้านการเลิกจ้าง เจาะจงเฉพาะธุรกิจ SMEs จริงๆ ประมาณ 120,000 คน โดยส่วนตัวขอเสนอให้รัฐบาล ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ ต้องเตรียมแผนรับการถูกเลิกจ้างงานทั้งระบบ ทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ และหากมีการเลิกจ้างงานในภาคเอกชน อยากให้รัฐบาล ขยายองค์กรภาครัฐที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยรับกลุ่มผู้ตกงานเข้าทำงาน นอกจากจะช่วยสร้างงานให้แล้ว ยังเป็นการนำบุคลากรที่มีคุณภาพจากภาคเอกชนมาพัฒนาการทำงานของภาครัฐด้วย

อีกทั้ง อยากให้ทบทวนละเว้น หรือลดหย่อนการเก็บภาษีแก่ SMEs สาขาที่ได้รับผลกระทบรุนแรน กับกลุ่มผู้ถูกเลิกจ้าง นอกจากนั้น อยากให้หันมาให้ความสำคัญแก่ SMEs อย่างแท้จริงเสียที เพราะที่ผ่าน ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลต่างชูนโยบายส่งเสริม SMEs แต่การปฏิบัติกลับตรงกันข้าม ซึ่งต่างจากประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ที่ให้สำคัญอย่างแท้จริง ทำให้มี SMEs เป็นสัดส่วน GDP ของประเทศมากกว่า 55% ประเทศเหล่านี้จึงมีพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแรง ขณะที่ประเทศไทยมี SMEs เป็นสัดส่วน GDP ไม่ถึง 40 %
กำลังโหลดความคิดเห็น