สสว. จับมือ มธ. เผยผลศึกษาการสร้างและพัฒนา Value Chain อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ มุ่งกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และรับเหมาก่อสร้าง ชี้เป็นอุตสาหกรรมระดับบิ๊ก มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี เกิดการจ้างงานนับแสนราย ระบุปัจจัยแปรสารพัด แนะ SMEs เร่งปรับตัวรับมือ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม คว้าโอกาสจากภาวะแวดล้อมโลกเปลี่ยน
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย เรื่อง “การสร้างและพัฒนา Value Chain ในสินค้าส่งออกและบริการที่สำคัญของ SMEs” ซึ่งมีมูลค่าของอุตสาหกรรมมากกว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี มีผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมมากกว่า 200,000 ราย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ และรับเหมาก่อสร้าง
สำหรับการศึกษาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน SMEs ไทย โดยวิเคราะห์ถึงโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่ม Value Chain ยกระดับและตำแหน่งใน Value Chain และ Supply Chain และศึกษาปัจจัยสนับสนุน SMEs ไทย ให้สามารถยกระดับในการผลิตและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
นายภักดิ์ กล่าวว่า "จากแนวโน้มของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนไป เช่น ปัญหาสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนไป ปัญหาอุทกภัยและแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีด้านวัสดุและการก่อสร้างที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ฯลฯ ประกอบกับโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น อย่างภาวะความต้องการที่อยู่อาศัยในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องปรับตัวตาม"
จากการศึกษาเจาะลึกในส่วนต่างๆของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างและอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญของประเทศและลูกค้าปลายทางอย่างบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมมากกว่า 80,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างด้านครัวเรือนที่อยู่อาศัยในประเทศ
นอกจากนั้น จากการศึกษาพบว่า แนวทางพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้นำแนวคิดด้านการบริหาร Value Chain มาประยุกต์ใช้กับแนวคิดด้านนวัตกรรม ได้แก่ การพัฒนาทักษะฝีมือและเทคโนโลยีการก่อสร้างโดยใช้โครงสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้แพร่หลายในต่างประเทศ และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยก็ใช้ระบบดังกล่าวพัฒนาการทำงานในส่วนที่ต้องใช้ฝีมือและความละเอียดมากขึ้น เช่น งานตกแต่งต่างๆส่วนการเชื่อมโยงข้อมูล โดยการนำระบบเทคโนโลยีเครือข่ายสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะทำให้การปรับการบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ การศึกษายัง พบว่า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ โดยตลาดในประเทศนั้นได้รับอิทธิพลจากการแนวโน้มความนิยมในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูงมากขึ้น โดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าของโครงการ มักจะจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวจากผู้ผลิตแบรนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักของลูกค้า สำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่เชื่อมโยงและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีการปรับตัวตามแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับโลกไม่รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เป็นต้น
นายภักดิ์ กล่าวว่า เพื่อให้ผลงานวิจัยในครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อ SMEs ไทย จึงได้จัดให้มีการสัมมนา เรื่อง “การสร้างและพัฒนาศักยภาพในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ฯ” โดยมีเป้าหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ SMEs และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงโอกาสและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน Value Chain ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาแผนงาน โครงการที่ตรงกับความต้องการและประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ต่อไป