สสว. ผ่อนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุน ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น นำไปเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจ รับมือวิกฤตการเงินโลก
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้าและการบริการ ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้น สสว. อยากให้ SMEs ใช้เครื่องมือทางการเงินในลักษณะของการร่วมลงทุน (Venture Capital) ซึ่งเป็นการสนับสนุนด้านเงินทุนที่สามารถสร้างความพร้อมในด้านเงินทุนให้แก่กิจการนั้นๆ ควบคู่กับการให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำในด้านการดำเนินธุรกิจ การจัดการการเงิน และการวางมาตรฐานของระบบบัญชี
นายภักดิ์ เผยต่อว่า สสว. ได้ปรับหลักเกณฑ์พิจารณา เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวกขึ้น จากเดิมให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรม (Innovation) แต่เนื่องจาก SMEs ไทยยังขาดความพร้อม จึงมีจำนวนน้อยที่สามารถเข้าสู่กระบวนการได้ ดังนั้น สสว. ปรับมามุ่งเน้นแก่ผู้ประกอบการที่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างความแตกต่าง การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่มาต่อยอดธุรกิจ การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของ SMEs และสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
สำหรับการร่วมลงทุน ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พิจารณาอนุมัติให้ SMEs แล้ว จำนวน 107 ราย ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไอที ชิ้นส่วนยานยนต์ และแฟชั่น เป็นต้น คิดเป็นวงเงินร่วมลงทุนกว่า 1,800 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนหรือมูลค่าทางเศรษฐกิจ การจ้างงานเพิ่มขึ้น และกิจการมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับมูลค่าการร่วมลงทุนในแต่ละวิสาหกิจจะมีจำนวนเงินระหว่าง 1-100 ล้านบาท ตามขนาดการลงทุนของกิจการ และยังคงมีสถานภาพเป็นเอสเอ็มอีตามประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ที่ สสว. ให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ กลุ่มวิสาหกิจพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก กลุ่มวิสาหกิจที่ถือเป็นความสามารถหลักของประเทศ (Core Competent) อาทิ กลุ่มอาหารแปรรูป กลุ่มแฟชั่น ดีไซน์ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งครอบคลุมผู้ประกอบการรายใหม่หรือรายเดิมที่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือสร้างความแตกต่าง โดยมูลค่าการร่วมลงทุนในแต่ละวิสาหกิจ จะมีจำนวนเงินระหว่าง 1 ล้านบาท ถึง 100 ล้านบาท ตามขนาดการลงทุนของกิจการ และยังคงมีสถานภาพเป็น SMEs ตามประกาศกฎกระทรวงอุตสาหกรรม
“การร่วมลงทุนอาจเป็นเครื่องมือใหม่ทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมักจะคุ้นเคยกับการกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน แต่ก็มีข้อแตกต่างหลายประการ อาทิ การร่วมลงทุนเป็นการลดภาระดอกเบี้ยของกิจการ และประการสำคัญ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันการขอรับการสนับสนุนเงินทุน” นายภักดิ์ กล่าว