xs
xsm
sm
md
lg

สสว.ร่วม มธ.ศึกษาเอสเอ็มอีอสังหาปรับตัวรับความนิยมที่พักอาคารสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. ร่วมกับ มธ. เผยผลศึกษาการสร้างและพัฒนา Value Chain อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ มุ่งกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และรับเหมาก่อสร้าง พบว่าความนิยมในที่พักอาศัยประเภทอาคารสูงมากขึ้น ผู้รับเหมาควรได้มีการปรับตัวรับเทคโนโลยีและวัสดุก่อสร้างที่มีความทันสมัยและโครงสร้างสำเร็จรูปเข้ามาใช้มากขึ้น ส่วนเฟอร์นิเจอร์ได้มีการออกแบบเล็กและมีประโยชน์ใช้สอยเต็มที่

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย เรื่อง “การสร้างและพัฒนา Value Chain ในสินค้าส่งออกและบริการที่สำคัญของ SMEs” โดยอุตสาหกรรมที่เลือกมาทำการศึกษา จะพิจารณาจากมูลค่าและการเติบโต จำนวนผู้ประกอบการ SMEs และการจ้างงาน ในครั้งนี้ได้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมผู้รับเหมาและเฟอร์นิเจอร์

นายภักดิ์ กล่าวถึง อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ว่า ปัจจุบันมีมูลค่าในส่วนของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปี และมีผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมมากกว่า 80,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างด้านครัวเรือนที่อยู่อาศัยในประเทศ จากแนวโน้มของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เปลี่ยนไป เช่น ความนิยมในที่พักอาศัยประเภทอาคารสูงเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีด้านวัสดุและการก่อสร้างที่รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ฯลฯ และการเปิดเสรีทางการค้าในหมวดบริการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องปรับตัวตาม

จาการศึกษาพบว่า แนวทางการพัฒนาตัวเองของผู้ประกอบการ เพื่อให้ทันต่อแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยนำแนวคิดด้านการบริหาร Value Chain มาประยุกต์ใช้กับแนวคิดด้านนวัตกรรม ได้แก่ การพัฒนาทักษะฝีมือและเทคโนโลยีการก่อสร้างโดยใช้โครงสร้างสำเร็จรูปมากขึ้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แพร่หลายในต่างประเทศ และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศไทยก็ใช้ระบบดังกล่าว เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงมากกว่าการก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูน ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานช่างฝีมือมากนัก และสามารถลดระยะเวลาการก่อสร้างลงได้มาก โดยในส่วนแรงงาน ต้องมีการพัฒนาให้สามารถทำงานในส่วนที่ต้องใช้ฝีมือและความละเอียดมากขึ้น เช่น งานตกแต่งต่างๆ

ทั้งนี้ มีการแนะนำให้นำระบบเทคโนโลยีเครือข่ายสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ ซึ่งหน่วยงานกลางที่จะเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว ได้แก่ สถาบันการเงิน เพราะสถาบันการเงินมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกรรมการเงินทั้งระบบ ตั้งแต่การจ่ายเงินค่างวดของลูกค้าที่ซื้อบ้าน จนกระทั่งการจ่ายเงินค่าวัสดุก่อสร้างให้กับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง

นายภักดิ์ เปิดเผยต่อว่า จากการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ต้องมีการปรับตัว โดยตลาดเฟอร์นิเจอร์ในประเทศนั้นได้รับอิทธิพลจากการแนวโน้มความนิยมในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูงมากขึ้น ซึ่งมักจะจำหน่ายในลักษณะห้องพร้อมตกแต่งเฟอร์นิเจอร์ ดังนั้น เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรจะออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่มีขนาดเล็กและสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของลูกค้าที่นิยมใช้ชีวิตอยู่ในอาคารสูงมากขึ้น

ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์พบโอกาสและอุปสรรคหลายประเด็น เช่น การบริหารจัดการวัตถุดิบ อุปสรรคในเรื่องของการประสานเชื่อมโยง วางแผนการทำงานและพัฒนาร่วมกันระหว่างสมาชิก และอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องจักร อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น และอุปสรรคในเรื่องของบุคลากรที่ขาดแคลนช่างผลิตเฟอร์นิเจอร์ ที่มีความชำนาญ

สำหรับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีมูลค่าการบริโภคในประเทศและการส่งออกมากกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี มีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 10,000 ราย เกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อาทิเช่น อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น