xs
xsm
sm
md
lg

สสว. จับมือ มสธ. ศึกษากฏหมาย SMEs รับมือ FTA สหรัฐและญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. ร่วมกับ มสธ. ศึกษากฎหมายเพื่อรองรับข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีผลต่อ SMEs โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหรัฐ และ ไทย-ญี่ปุ่น มุ่งเน้นกลุ่มภาคบริการและภาคเกษตร ทั้งกฎหมายด้านแรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา การเงินและภาษีอากร หวังเป็นช่องทางพัฒนากฎหมายไทย ลดอุปสรรค เอื้อต่อการทำธุรกิจและเสริมศักยภาพการแข่งขันของ SMEs ในตลาดโลก

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) จัดทำโครงการศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย เรื่อง “โครงการศึกษาวิจัยและเสนอแนะการพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบเพื่อรองรับข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีต่างๆ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสาระสำคัญของข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อ SMEs รวมทั้งวิเคราะห์ความสอดคล้องและปฏิสัมพันธ์ของข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายของไทย

“การศึกษาในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนากฎหมายหรือกฎระเบียบ ด้วยการเสนอแนะให้มีการปรับปรุงแก้ไขหรือออกกฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของSMEs เน้นพันธกรณีหรือความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของ SMEs ที่ตกลง FTA ระหว่างไทย กับสหรัฐอเมริกา และไทยกับญี่ปุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มภาคบริการและภาคเกษตร รวมทั้งเกษตรแปรรูป และเกี่ยวข้องกับกฎหมายด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ด้านการเงินและภาษีอากรส่งเสริมให้ SMEs มีศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายยังเป็นการลดอุปสรรคของภาครัฐอีกด้วย” นายภักดิ์ กล่าว

สำหรับผลการศึกษาครั้งนี้ พบว่ามีประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SMEs เช่น ปัญหาเกี่ยวกับการตีความในมาตรา190ว่า หนังสือสัญญาใดบ้างที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา การออกกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุนจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เกี่ยวกับบัญชีประเภทธุรกิจที่ต้องห้าม สัดส่วนการถือครองหุ้น สัดส่วนคณะกรรมการบริหาร การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อผู้ประกอบการ SMEs และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงได้จัดให้มีการสัมมนาขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการเผยแพร่ผลงานวิจัยแล้ว ยังเป็นการรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำความตกลงการค้าเสรี เกี่ยวกับโอกาส ปัญหา รวมถึงผลกระทบ และประสบการณ์ของ SMEs ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อนำข้อมูลผลการศึกษาที่ได้ ถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ SMEs ให้นำไปใช้ประโยชน์สนับสนุน SMEs อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น