xs
xsm
sm
md
lg

สสว. ชี้ทางออก SMEs หนีวงจรต้นทุนสูง ผลตอบแทนต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. เผยผลสำรวจผู้ประกอบการ SMEs ชี้กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ แก้วและเซรามิก อาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น และบริการเสริมสร้างสุขภาพ เสี่ยงสูง แนะต้องเร่งปรับตัว เหตุเพราะต้นทุนสูงและผลตอบแทนต่ำ พร้อมชี้ทางออก ต้องวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อหาทางลดค่าใช้จ่าย แสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่ ขณะเดี่ยวกันต้องพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รักษาคุณภาพสินค้า และสร้างตราสินค้าเป็นของตัวเอง

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยโครงการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา (SAW) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์และเตือนภัย SMEs รายสาขา ในเรื่อง น้ำมัน ต้นทุน เงินทุน กำลังการผลิตและเทคโนโลยี ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับราคาเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าและค่าพลังงานอื่นๆ นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม SMEs ให้มีต้นทุนในการผลิต การดำเนินงานและการประกอบการในภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนจากการดำเนินงานต่ำลง นับเป็นสาขาที่ต้องเร่งปรับตัวมากที่สุด

จากจำนวน 61 สาขาอุตสาหกรรม ที่ สสว. ได้ทำการสำรวจ พบว่า อุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งปรับตัวเนื่องจากจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม จะอยู่ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ประกอบด้วย ประเภทวิศวการ ได้แก่ สาขาต่อเรือและซ่อมเรือ สาขาเหล็ก สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า สาขาอิเลคทรอนิกส์ และสาขาเครื่องมือเฉพาะด้าน ประเภทการผลิตเบา ได้แก่ สาขาแก้วและเซรามิก สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สาขาหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สาขาผลิตภัณฑ์พลาสติก สาขาแร่อโลหะ (ใช้ในการก่อสร้าง) สาขาเฟอร์นิเจอร์ สาขาอัญมณีฯ สาขารีไซเคิลและสาขาเครื่องสันทนาการ ประเภทใช้ทรัพยากร ธรรมชาติ ได้แก่ สาขาอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภทเส้น สาขาน้ำมันพืช สาขาผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ สาขาผักผลไม้ สาขาผลิตภัณฑ์จากธัญพืช สาขาขนมอบกรอบ สาขาน้ำตาล สาขาไม้ สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และสาขายาและสมุนไพร

กลุ่มธุรกิจการค้าและบริการ ได้แก่ สาขาบริการเสริมสร้างสุขภาพ สปา สาขาโรงแรม สาขาบริการท่องเที่ยว สาขาบริการคอมพิวเตอร์ สาขาการศึกษา (สถาบันกวดวิชาที่เพิ่งเริ่มกิจการ) สาขาบริการให้เช่าสินทรัพย์ สาขาบริการอำนวยการ สาขาก่อสร้าง และสาขาบริการอสังหาริมทรัพย์

แม้ว่าที่ผ่านมา SMEs ได้ปรับตัวเพื่อรองรับกับต้นทุนที่คาดว่าจะสูงขึ้น ทั้งในเรื่องของคนและการขนส่ง โดยพยายามลดต้นทุนจากการผลิตและวัตถุดิบ แต่เนื่องจากปัจจัยภายนอก เช่น อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน ฯลฯ มีการเปลี่ยนแปลงเกินความคาดหมาย จึงอาจจะทำให้ SMEs ต้องเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุนมากกว่าด้านอื่นๆ และอาจจะส่งผลต่อการปรับเป้าหมาย ตลอดจนแผนงาน และผลการดำเนินงานอีก

โดยในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า SMEs จะพยายามลดสัดส่วนของเงินทุนที่มาจากครอบครัวและการกู้ยืมลง โดยจะเพิ่มเงินทุนของกิจการด้วยรายได้ภายในประเทศและเงินทุนจากรัฐบาลมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้วยการลดเงินลงทุนในส่วนของเจ้าของลง การลดต้นทุนด้านดอกเบี้ยจ่ายให้กับสถาบันทางการเงิน การใช้ความสามารถของกิจการในการเป็นกลไกให้ธุรกิจนั้นอยู่ได้ด้วยตนเอง และการพึ่งพารัฐบาล ในการขับเคลื่อน SMEs เพราะความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก

ส่วนทางด้านการผลิต SMEs คาดหวังที่จะใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 76 ในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ในส่วนของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ SMEs นำมาใช้ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีใช้เพื่อการบริหารจัดการ เพื่อการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ และเพื่อการผลิต โดย SMEs จะให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการผลิตมากขึ้นในระยะเวลา 5 ปี ข้างหน้า เพราะเริ่มเห็นความสำคัญและประโยชน์ต่อการลงทุน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงจากระบบ Economy of Scales ไปเป็น Economy of Speeds และกรอบของระบบการควบคุมคุณภาพ

อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเร่งปรับตัว โดยในระยะสั้นจะต้องดำเนินการทั้งในเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือต้นทุนผลิตภัณฑ์ เช่น วัตถุทางตรง ค่าแรงทางตรง ค่าใช้จ่ายในการผลิต รวมทั้งต้นทุนตามงวดเวลา เช่น ค่าใช้จ่ายในการขาย และค่าใช้จ่ายในการบริหาร เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาโดยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เช่น ลดค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง ด้วยการจัดการ Logistic ที่มีประสิทธิภาพ ลดปริมาณของเสียและจำนวนงานที่ผิดพลาด หรือการปรับปรุงเครื่องจักรเก่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต นอกจากนี้จะต้องพิจารณา สรรหร และทดลองใช้พลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง

ขณะเดียวกันจะต้องมีการพัฒนาสินค้าด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นการซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ การรักษาคุณภาพสินค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และการสร้างตราสินค้าเป็นของตนเอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนสถานะจากการรับจ้างผลิตมาเป็นผู้ผลิตอีกด้วย

สำหรับการสำรวจวิเคราะห์เตือนภัย SMEs รายสาขานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการสำรวจ Competitive Environment ของ SMEs ทั้งหมด 4 ภูมิภาค ซึ่ง สสว. ดำเนินการร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมในการแข่งขันและการประกอบธุรกิจของ SMEs ตลอดจนเพื่อการเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการ Business Warning Centre / BWC ในแต่ละภูมิภาค โดยเบื้องต้นได้ทำการสำรวจโดยอาศัยประชากรตามสัดส่วนของ SMEs ในแต่ละภูมิภาคทั้ง 4 ภูมิภาคประมาณร้อยละ 2 รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,835 ตัวอย่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น