xs
xsm
sm
md
lg

สสว. เผยอุตฯ วิศวการน่าห่วง แนะลดต้นทุน-สร้างตราสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - สสว. เผยผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีระบุ สาขาอิเลคทรอนิกส์ แร่อโลหะ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ บริการท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นกลุ่มที่ต้องเร่งปรับตัวด่วน เหตุเพราะเผชิญทั้งต้นทุนสูงและผลตอบแทนต่ำจนกระทบต่อสภาพคล่อง ชี้ทางออกต้องวิเคราะห์ต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย พัฒนาบรรจุภัณฑ์ และสร้างตราสินค้าเป็นของตัวเอง

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยโครงการวิเคราะห์และเตือนภัยเอสเอ็มอีรายสาขา (SAW) เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์และเตือนภัยเอสเอ็มอี รายสาขาว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะต้องเร่งปรับตัว เพราะนอกจากจะต้องเผชิญทั้งอุปสรรคจากภายนอกที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและธุรกิจแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาผลตอบแทนจากการดำเนินงานต่ำ และส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกิจการ

โดยสาขาที่ต้องเร่งปรับตัวมากที่สุดเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงขึ้นขณะที่ผลตอบแทนต่ำ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ประเภทวิศวการ ได้แก่ สาขาอิเลคทรอนิกส์ (ต้นทุนสูงขึ้น 19.00-20.00%) สาขาต่อเรือและซ่อมเรือ (ต้นทุนสูงขึ้น 16.00-17.00%) ประเภทการผลิตเบา ได้แก่ สาขาแร่อโลหะ (ใช้ในการก่อสร้าง) (ต้นทุนสูงขึ้น 14.00-15.00%) สาขาผลิตภัณฑ์พลาสติก (ต้นทุนสูงขึ้น 11.00-12.00%) สาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (ต้นทุนสูงขึ้น 9.00-10.00%) สาขาอัญมณีและเครื่องประดับ (ต้นทุนสูงขึ้น 8.00-9.00%) ประเภทใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ สาขาผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ (ต้นทุนสูงขึ้น 10.00-11.00%) สาขาผลิตภัณฑ์จากธัญพืช (ต้นทุนสูงขึ้น 8.00-9.00%) สาขาผลิตภัณฑ์ยาง และ สาขาผักผลไม้ (ต้นทุนสูงขึ้น 7.00-8.00%)

อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องเร่งปรับตัว โดยในระยะสั้นจะต้องดำเนินการทั้งในเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนของกิจการเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เช่น ลดค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง ด้วยการจัดการ Logistic ที่มีประสิทธิภาพ ลดปริมาณของเสียและจำนวนงานที่ผิดพลาด หรือการปรับปรุงเครื่องจักรเก่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หาพันธมิตรทางการค้า และหาพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับธุรกิจ ขณะเดียวกันจะต้องมีการพัฒนาสินค้าด้านบรรจุภัณฑ์ เพื่อกระตุ้นการซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ การรักษาคุณภาพสินค้าเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด และการสร้างตราสินค้าเป็นของตนเอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนสถานะจากการรับจ้างผลิตมาเป็นผู้ผลิต ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่นอกจากจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์แล้วยังพัฒนาให้เป็นจุดแข่งขันที่เข้มแข็งและยั่งยืนของธุรกิจต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น