xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย SMEs ไทยไตรมาส 3-4 ยังอยู่ในปัจจัยเสี่ยง การเมือง เงินเฟ้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. ชี้ SMEs ไทย ไตรมาส 3-4 ยังต้องเผชิญกับผลตอบแทนต่ำ ปัจจัยเสี่ยงยังอยู่ที่การเมือง ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ การแข่งขันทางธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเบา กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงกลุ่มธุรกิจภาคการค้าการให้บริการ ล้วนเผชิญมรสุมรอบด้าน มีเพียงกลุ่มวิศวการยังคงมีอนาคตที่สดใส

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยถึงรายงานสถานการณ์และการเตือนภัย SMEs รายสาขา ว่า จากผลการศึกษาของ สสว. โดยอาศัยการสำรวจจากผู้ประกอบการ SMEs จำนวนกว่า 4,200 รายทั่วประเทศ พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 จนถึงสิ้นปี 2551 นั้น ผู้ประกอบการ SMEs ไทยยังคงต้องเผชิญกับผลตอบแทนจากการประกอบกิจการที่ต่ำลง โดยมีปัจจัยเสี่ยงในการประกอบธุรกิจทั้งในเรื่องของสถานการณ์ทางการเมือง ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อ การแข่งขันทางธุรกิจ และพฤติกรรมของผู้บริโภค
โดยผู้ประกอบการ SMEs ให้ความเห็นว่า การแข็งค่าของค่าเงินบาทค่อนข้างมีเสถียรภาพในช่วงที่ผ่านมาจึงทำให้ผู้ส่งออกไม่ค่อยกังวลมากนัก ขณะที่ราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจจะส่งผลต่อต้นทุนและความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศในการลงทุน และส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง จนเป็นผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนธุรกิจและปิดกิจการตามลำดับ
“ที่น่าเป็นห่วงพบว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา กิจการของ SMEs ทั้งในรูปแบบบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัด มีการปิดกิจการไปแล้วไม่น้อยกว่า 6,500 กิจการ นอกจากนี้ยังมีกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียน ทั้งกลุ่มห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีการปิดกิจการอีกกว่า 35,000 กิจการ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 65 เป็น SMEs ในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น” นายภักดิ์ กล่าว

จากข้อมูลเพื่อการเตือนภัย SMEs รายสาขาของ สสว. โดยการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมศุลกากร พบว่าจำนวนวิสาหกิจตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 1.80-2.00 คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 99.50 จากจำนวนวิสาหกิจทั้งหมดของประเทศหรือประมาณ 2.2 – 2.3 ล้านวิสาหกิจ
โดยการจ้างงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนประมาณ 8.4 - 9.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 76 จากการจ้างงานทั้งระบบ มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 2.6 ขณะที่การส่งออกของ SMEs มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10 – 12 สร้างรายได้ประมาณ 1.30 – 1.70 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 29 – 30

จากการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ทั้งนี้เริ่มมีการได้ดุลทางการค้าตั้งแต่ปี 2550 ที่ผ่านมาแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างรุนแรงก็ตาม เช่นเดียวกันกับรายได้รวมสุทธิของ SMEs ที่พบว่าในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.50 โดยมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 36 จากรายได้รวมสุทธิของวิสาหกิจทั้งหมด หรือประมาณ 5.4 ล้านล้านบาทในปี 2548 และคาดการณ์ว่าจะเป็น 6 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 นี้
นายภักดิ์ เปิดเผยต่อว่า จากข้อมูลข้างต้นแม้จะสะท้อนว่า SMEs กำลังไปได้ดีในด้านการเติบโต แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลด้านอื่นๆ ประกอบ เช่น กำไรสุทธิในช่วงปี 2548 จนถึงปัจจุบัน พบว่า ส่วนแบ่งของกำไรที่ทำได้ร้อยละ 26.70 ในปี 2548 อาจจะลดเหลือเพียงร้อยละ 22 หรือจาก 400,000 ล้านบาท เป็น 220,000 ล้านบาทในปี 2551 ทั้งนี้ผลกำไรที่ลดลงไม่ได้เกิดจากการที่ SMEs ขาดโอกาสทางการตลาด แต่เกิดจากยังมีจุดอ่อนด้านการจัดการตนเอง และองค์ความรู้ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ค่าเงินบาท สถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องของต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาดัชนีชี้วัดสุขภาพและผลิตภาพของ SMEs พบว่าอัตราผลตอบแทนที่เคยทำได้ร้อยละ 8.05 ในปี 2548 อาจจะลดลงอย่างต่อเนื่องตามกำไรสุทธิที่ลดลง เหลือเพียงร้อยละ 3.69 ในปี 2551 ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของผลิตภาพทุนและผลิตภาพแรงงานประมาณร้อยละ 16 และ 17 ตามลำดับในปีเดียวกัน ขณะที่ต้นทุนในการประกอบการปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 6 และรายได้ด้อยค่าหรือรายได้ที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกเกือบร้อยละ 50 จากรายได้สุทธิ

เตือนภัย SMEs รายสาขา
นายภักดิ์ เปิดเผยต่อถึงข้อมูลการเตือนภัย SMEs รายสาขาในปี 2551 จนถึงต้นปี 2552 ประกอบด้วย สาขาวิศวการ สาขาอุตสาหกรรมเบา สาขาที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และสาขาธุรกิจการค้าและการบริการ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า สาขาวิศวการ จะเป็นสาขาขับเคลื่อนสำคัญที่ยังคงมีทิศทางที่สดใส ทั้งในส่วนของผลตอบแทนจากการดำเนินงาน การส่งออก ผลิตภาพทุน ผลิตภาพแรงงาน แต่อาจจะต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้น และรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยสาขาที่ต้องระวังเป็นพิเศษในกลุ่มนี้ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และต่อเรือและซ่อมเรือ ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาผลตอบแทนจากการดำเนินงานต่ำต่อเนื่อง
สาขาอุตสาหกรรมเบา จะเป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญกับมรสุมด้านการสร้างผลตอบแทนจากการดำเนินงาน ผลิตภาพทุน ผลิตภาพแรงงาน ต้นทุนในการประกอบธุรกิจ รวมถึงการไร้ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดยกลุ่มที่ต้องระวังมากที่สุดในสาขานี้ ได้แก่ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หนังผลิตภัณฑ์หนัง ผลิตภัณฑ์พลาสติก แก้วและเซรามิก แร่อโลหะที่ใช้ในการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสันทนาการ ทั้งนี้แม้ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้นแต่ก็มีความอ่อนแอสูงขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับมีการแข่งขันที่รุนแรง
สาขาที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องผลตอบแทนจากการดำเนินกิจการที่ ลดต่ำลงจนน่าเป็นห่วง เพราะผลกระทบจากต้นทุนพลังงาน ผลิตภาพทุน ผลิตภาพแรงงาน และรายได้ด้อยค่า ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์จากไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง กลุ่มอาหารแปรรูปประเภทสัตว์น้ำ ผักผลไม้ ธัญพืช และขนมอบกรอบ

สาขาธุรกิจการค้าและการบริการ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1.6 ล้านราย คิดเป็นเกือบร้อยละ 70 ของ SMEs ทั้งหมด ทั้งนี้ SMEs ในกลุ่มธุรกิจการค้า มีผลตอบแทนจากการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานโดยรวม โดยอาจจะมีผลตอบแทนเพียงร้อยละ 2.28 เท่านั้น ซึ่งมีผลมาจากอัตราการบริโภคและพฤติกรรมการบริโภคที่มีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องเผชิญกับสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง รวมทั้งผลิตภาพทุนและผลิตภาพแรงงานที่ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 10 ส่วนธุรกิจบริการ จะพบว่ารายได้ที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับความสามารถที่จะอยู่อย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร บริการให้เช่าสินทรัพย์ บริการอำนวยการ บริการวัฒนธรรม บันเทิงและกีฬา บริการเสริมสร้างสุขภาพสปาและสังคม บริการก่อสร้าง Logistic คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ และบริการสุขภาพและอนามัย

แนวทางสู้ภัยวิกฤติ
นายภักดิ์ เปิดเผยต่อถึงแนวทางที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุน ด้วยการวิเคราะห์ต้นทุนของกิจการเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาโดยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น ลดปริมาณของเสียและจำนวนงานที่ผิดพลาด การปรับปรุงเครื่องจักรเก่าให้มีประสิทธิภาพ สรรหาพลังงานทางเลือกที่เหมาะสมกับธุรกิจ พัฒนาสินค้าด้านบรรจุภัณฑ์ การรักษาคุณภาพสินค้า และการสร้างตราสินค้า
ในส่วนของ สสว. นอกจากจะพัฒนาแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ให้มีเป้าหมายร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาแล้ว แนวทางการดำเนินงานในปี 2552 จะจัดทำแผนการพัฒนาข้อได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเน้นการสร้างผู้ประกอบการใหม่ การเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และผลตอบแทนจากการประกอบธุรกิจ การเพิ่มผลิตภาพทุน ผลิตภาพแรงงาน และการขยายตลาดด้วยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายใหญ่ ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและการบริการเป็นรายสาขา ให้ครบวงจร รวมทั้งเร่งพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ ส่งเสริม SMEs ในภูมิภาคและท้องถิ่นโดยเน้นการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ
ส่วนการลดต้นทุนประกอบกิจการ สสว. ได้ผนวกเข้าไว้ในแผนการส่งเสริม SMEs สำหรับการเพิ่มและพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs การเพิ่มผลิตภาพในสาขาอุตสาหกรรมการผลิต ธุรกิจการค้าและการบริการ โดยจะบูรณาการการทำงานกับหน่วยร่วมในการกระจายองค์ความรู้ตลอดจนแนวทางต่างๆ สู่ระดับภูมิภาคและท้องถิ่นให้มากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น