xs
xsm
sm
md
lg

ชี้การเมืองเดือดไม่กระทบSMEs เตือนโค้งสุดท้ายของปีเผชิญวิกฤตกำไรต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายภักดิ์ ทองส้ม
สสว. ชี้การเมืองเดือดกระทบเอสเอ็มอีแค่ทางอ้อม เพราะการอยู่รอดของผู้ประกอบการไทยขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจพื้นฐานมากกว่า ระบุช่วงสุดท้ายของปี ยังต้องเผชิญวิกฤตกำไรต่ำ โดยมีปัจจัยลบเดิมๆ เช่น ค่าน้ำมัน เงินเฟ้อ แข่งดุ เป็นต้น กระตุ้นหันกลับมามองตัวเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพ

นายภักดิ์ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองเวลานี้ เชื่อว่าจะกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพียงเล็กน้อย โดยเป็นผลกระทบทางอ้อม เช่น ผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อลง หรือธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบด้านภาพลักษณ์ เนื่องจากภาครวมเอสเอ็มอีไทยอยู่ในสภาพเศรษฐกิจจริงที่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง ส่วนใหญ่ภาคเอสเอ็มอีจะเป็นการค้าภายในประเทศ รวมถึง ปัจจุบัน เริ่มปรับตัวกับสภาพการเมืองไม่แน่นอนได้แล้ว ส่วนที่กระทบรุนแรงน่าจะเป็นภาคของตลาดทุน ซึ่งมีความอ่อนไหวสูง จึงเชื่อว่า ถ้าสถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว ผลกระทบที่เกิดกับเอสเอ็มอีจะเป็นเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น

สำหรับสถานการณ์ของเอสเอ็มอีไทย ในช่วงสุดท้ายถึงสิ้นปีนี้ (2551) มีแนวโน้มรายได้และการเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยจากช่วงครึ่งปีแรก สาเหตุสำคัญมาจากกำไรที่ลดน้อยลง แม้ว่า รายได้จะเท่าเดิม เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุดิบ พลังงาน และการขนส่ง เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเบา กลุ่มอุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และกลุ่มธุรกิจภาคการค้า และบริการ คือ สาขาที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า ในปี 2548 เอสเอ็มอีเคยมีกำไรทำได้ร้อยละ 8.05 แต่ปีนี้ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 3.69 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องมาทุกปี บ่งชี้ว่า เอสเอ็มอีไทยมีจุดอ่อนในการปรับตัวเองเพื่อรับปัจจัยเสี่ยงภายนอก

นอกจากนั้น ข้อมูลยังชี้ว่า เอสเอ็มอีไทยจำนวนมากกว่าครึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอ แก้วและเซรามิก อัญมณีเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ เป็นต้น มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่ำมาก ทำให้รายได้เติบโตค่อนข้างน้อย เมื่อประกอบกับปัจจัยลบภายนอกต่างๆแล้ว ในอนาคตผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะประสบปัญหาลำบากอย่างยิ่งด้านการแข่งขัน ดังนั้น นอกจากคำนึงถึงปัจจัยภายนอกแล้ว เอสเอ็มอีควรหันกลับมามองตัว ทั้งการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับตลาดมากยิ่งขึ้น

นายภักดิ์ เผยด้วยว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีปิดกิจการไปแล้ว สำหรับที่จดทะเบียนในระบบไม่น้อยกว่า 6,500 กิจการ และที่ไม่ได้จดทะเบียนในระบบอีกไม่ต่ำกว่า 35,000 กิจการ ซึ่งตัวเลขปิดกิจการดังกล่าว ยังไม่น่ากังวลนัก เนื่องจากธุรกิจระดับเอสเอ็มอีจะมีอัตราปิด และเปิดใหม่ทดแทนกันอยู่เสมอ รวมถึง อัตราปิดกิจการดังกล่าวไม่แตกต่างจากปีที่แล้วมากนัก

ส่วนแนวโน้มครึ่งหลัง เชื่อว่า การปิดตัวจะลดลง เนื่องจากค่าเงินบาทลดความผันผวน และน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวลง อย่างไรเสีย สิ่งสำคัญผู้ประกอบการต้องเร่งพัฒนาศักยภาพของตัวเองในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น การตลาดใหม่ และเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์
กำลังโหลดความคิดเห็น