xs
xsm
sm
md
lg

KBANK ผุดมาตรการช่วยลูกค้า หวั่นการเมืองยืดเยื้อลามธุรกิจพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์กสิกรไทย หวั่นปัญหาการเมืองยืดเยื้อลามกระทบธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมเตรียมแนวทางช่วยเหลือลูกค้าที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและโรงแรม ยันยังไม่มีลูกค้าเข้าขอความช่วยเหลือ คุยสินเชื่อเอสเอ็มอี 8 เดือนโต 8-9% โดย 30% เป็นลูกค้าจากแบงก์อื่น ยันสินเชื่อทั้งปีทำได้ตามเป้าหมายแน่นอน

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรมได้รับผลกระทบ ทำให้ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หากลูกค้ามีปัญหาเรื่องสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ซึ่งอาจะมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

ทั้งนี้ หากปัญหายังยือเยื้อก็อาจจะกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคการผลิตก็คงจะได้รับผลกระทบ และหากโครงการใหญ่ๆ มีการชะลอตัวก็อาจจะส่งผลต่อมายังธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งในขณะนี้แนะนำให้ลูกค้าติดตามข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด และอย่ามีการลงทุนที่เกินตัวรวมถึงจะต้องดูความสามารถในการชำระหนี้ว่าเป็นอย่างไร และไม่แนะนำให้ใช้เงินกู้นอกระบบ

“ขณะนี้ยังไม่มีลูกค้าที่ทำธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรม ติดต่อเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ แต่หากมีลูกค้าติดต่อเข้ามาธนาคารก็พร้อมให้การช่วยเหลือ ส่วนลูกค้าส่งออกและนำเข้าตอนนี้ก็แนะนำลูกค้าไปบ้างแล้วเกี่ยวกับความผันผวนของค่าเงินให้มีการป้องกันความเสี่ยงด้วยวิธีต่างๆ แล้ว”

สำหรับยอดปล่อยสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีอัตราเติบโตสุทธิ 8-9% ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีที่มีอัตราการเติบโตสูง เช่น ธุรกิจเกษตรแปรรูป และธูรกิจส่งออก โดยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อนั้น 30% มาจากลูกค้าสินเชื่อของธนาคารอื่น สำหรับเป้าหมายในปีนี้คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ 20% ซึ่งคาดว่า จะทำได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน เนื่องจากในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเป็นช่วงที่การปล่อยสินเชื่อไม่มีปัญหา

“ยอดสินเชื่อเอสเอ็มในช่วง 8 เดือนของปีนี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีอัตราการขยายตัวสูงกว่า ทำให้มั่นใจว่า ยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีนี้จะปล่อยได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากสินเชื่อเกษตรแปรรูปมีอัตราการขยายตัวดี ทั้งนี้ สิ้นปี 2550 ธนาคารมีสินเชื่อเอสเอ็มอี 300,000 ล้านบาท สิ้นปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มยอดสินเชื่อเป็น 360,000 ล้านบาท”

นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า สินเชื่อเอสเอ็มอี ที่เป็นธุรกิจประเภทเอสเอ็มอีขนาดเล็ก วงเงินสินเชื่อ 10 ล้านบาท และไมโครเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อ 3 ล้านบาท ยังมีความต้องการสินเชื่อสูง เนื่องจากธุรกิจในกลุ่มนี้ยังเข้าไม่ถึงบริการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และไมโครเอสเอ็มอี ยังเติบโตได้อีกมาก

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในขณะนี้ยังไม่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยธนาคารได้มีการตั้งหน่วยงานติดตามและควบคุมคุณภาพสินเชื่อคอยดูแลสินเชื่อของลูกค้าแต่ละรายอยู่ โดยหากมีรายใดที่ผ่อนชำระล่าช้า 1 วัน ทีมงานดังกล่าวจะมีการติดต่อไปยังลูกค้าทันที ทั้งนี้จากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นนั้น ธนาคารเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกค้าแน่นอน

“หน่วยงานนี้จะดูหนี้ตั้งแต่ยังเป็นปกติ และดูถึงพฤติกรรมการใช้และการคืนหนี้ ซึ่งหากมีสัญญาณก็จะมีรายชื่อออกมาทันที คือ หากเริ่มมีปัญหาหรือขาดผ่อน 1 วัน แบงก์ก็จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาทันที ส่วนดอกเบี้ยหากขึ้น 1-2% เชื่อว่า ยังไม่กระทบลูกค้าเพราะเรามองเผื่อไว้แล้ว และเชื่อว่าลูกค้าแต่ละรายจะปรับตัวได้ แต่ก็จะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละรายด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น