xs
xsm
sm
md
lg

แผนควบรวมเอสเอ็มอีแบงก์กับบสย.เสร็จไม่เกิน 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง มั่นใจจะสามารถควบรวมกิจการเอสเอ็มอีแบงก์ กับบสย.ได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งหลังควบรวมจะทำให้เอสเอ็มอีแบงก์สามารถอำนวยสินเชื่อได้ 30,000 ล้านบาท โดยไม่ต้องเพิ่มทุน ในส่วนเอ็นพีแอลจะต้องลดให้เหลือไม่เกินร้อยละ 15 ภายใน 4 ปี

นายสมชาย สกุลสุรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือเอสเอ็มอีแบงก์กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ว่า เป็นแนวทางที่จะทำให้ทั้ง 2 สถาบันการเงินสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินทั้ง 2 แห่ง อยู่ในภาวะที่อ่อนแอไม่สามารถที่จะอำนวยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้อย่างเต็มที่ เพราะเอสเอ็มอีแบงก์ เองก็มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงกว่าร้อยละ 50 หากไม่ควบรวมกิจการ กระทรวงการคลังก็ต้องเพิ่มทุนให้ทั้ง 2 แห่งทุกปีเป็นภาระทางการเงินของแผ่นดิน แต่การควบกิจการไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนใหม่เนื่องจาก บสย. มีกองทุนอยู่ประมาณ 3,500 ล้านบาท หลังควบรวมกิจการแล้วจะทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ สามารถอำนวยสินเชื่อได้ประมาณ 30,000 ล้านบาทโดยไม่ต้องเพิ่มทุน ส่วนหนี้เสียที่มีอยู่ก็ต้องบริหารจัดการโดยแยกออกไปจากสินทรัพย์ดีบางส่วนและลดเอ็นพีแอลให้เหลือประมาณร้อยละ 15 ภายใน 4 ปี

โดยการควบรวมกิจการทั้ง 2 สถาบันการเงิน จะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เนื่องจากจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะที่ยังควบรวมไม่แล้วเสร็จก็ทำงานประสานกันไปก่อนได้ และหลังควบรวมกิจการเสร็จแล้ว บสย. จะเป็นส่วนหนึ่งของเอสเอ็มอี แบงก์ยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน เนื่องจากพนักงานของ บสย. มีไม่ถึง 100 คน แต่การควบรวมกิจการจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายผู้บริหารและกรรมการทั้ง 2 หน่วยงานสูงมาก ส่วนภารกิจภายใต้องค์กรใหม่หลังควบรวมกิจการแล้ว เอสเอ็มอีแบงก์จะทำหน้าที่ทั้งปล่อยสินเชื่อพร้อมกับการค้ำประกันสินเชื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการให้เข้าถึงนวัฒกรรมต่าง ๆ และแข่งขันได้กับธนาคารพาณิชย์
กำลังโหลดความคิดเห็น