หอการค้าไทย เผยผลสำรวจสถานภาพเอสเอ็มอีไทย ระบุสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น เอสเอ็มอีจะมีอายุได้อีกแค่ 8 เดือนกว่า เผยปัญหาสำคัญมาจากขาดการตลาด ขณะที่โครงการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ผ่านมา ช่วยเหลือได้ในระดับปานกลาง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจสถานภาพเอสเอ็มไทย ว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ระบุว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีขึ้นจะสามารถประคองกิจการต่อไปได้เฉลี่ยประมาณ 8.03 เดือนเท่านั้น โดยเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ระบุว่า จะประคองธุรกิจอยู่ได้ประมาณ 7 เดือนถึง 1 ปี
สำหรับปัญหาที่เอสเอ็มอีประสบส่วนใหญ่ร้อยละ 31.9 ระบุว่า ประสบปัญหาด้านการตลาด การขาย รองลงมาร้อยละ 25.2 มีปัญหาด้านการเงิน ร้อยละ 24 มีปัญหาวัตถุดิบ โดยเอสเอ็มอีร้อยละ 54.6 ระบุว่าต้องการขอสินเชื่อ เพื่อนำไปเพิ่มสภาพคล่องมากที่สุด รองลงมานำไปใช้ปรับการผลิตและใช้ในการขยายธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอี ร้อยละ 65 ระบุว่า ยากที่จะเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ และร้อยละ 20.4 ระบุว่า เข้าถึงยากมาก โดยเอสเอ็มอี และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ขาดสภาพคล่อง เอสเอ็มอีร้อยละ 22.3 เลือกใช้วิธีปรับลดงบการตลาดลง รองลงมาร้อยละ 18.9 เลือกใช้วิธีเร่งหาคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม และร้อยละ 17 เลือกใช้วิธีการลดการใช้พลังงานลง มีเอสเอ็มอีเพียงร้อยละ 7.9 เท่านั้นที่เลือกลดจำนวนวันทำงานลง
นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า ส่วนโครงการช่วยเหลือของภาครัฐบาล เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ทราบ โดยร้อยละ 96.4 ระบุว่า ได้รับทราบโครงการเอสเอ็มอีพาวเวอร์ ซึ่งเป็นโครงการให้สินเชื่อผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และร้อยละ 69.1 ระบุว่า เคยได้รับทราบการให้บริการค้ำประกัน สินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 71 เห็นว่าโครงการช่วยเหลือที่ผ่านมาของรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับปานกลางเท่านั้น ซึ่งเอสเอ็มอีที่สำรวจถึงร้อยละ 95.3 ระบุว่า ไม่เคยติดต่อขอใช้บริการ มีเพียงร้อยละ 4.7 ที่เคยติดต่อขอใช้บริการ ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้ใช้บริการร้อยละ 79.77 ระบุว่า ไม่รู้จะเริ่มติดต่ออย่างไร ขณะที่ร้อยละ 20.33 ระบุว่า ไม่ต้องการใช้บริการ