“กรณ์” ล้มโต๊ะควบร่วมเอสเอ็มอีแบงก์ กับบสย. แจงสถานการณ์ปัจจุบัน สององค์กรมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ควรแยกการทำงานให้ชัดเจน ระบุคุยกับ “ประดิษฐ์” แล้ว เชื่อไม่ติดใจส่วนการแก้ปัญหาหนี้เน่าชงตั้งแบดแบงก์
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะไม่ควบรวมกิจการระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพราะเห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ทั้ง 2 องค์กรมีความสำคัญมากขึ้น จึงควรเพิ่มบทบาทในการทำงานแยกจากกันให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับแนวทางในการคัดแยกหนี้เสียออกจากธนาคาร เนื่องจากการแยกส่วนที่เป็นปัญหาออกจากธนาคารนั้น จะทำให้สามารถประเมินผลการบริหารงานของ เอสเอ็มอีแบงก์ และทีมบริหารชุดใหม่ที่เข้าไปดำเนินการชัดเจนขึ้น และหาก เอสเอ็มอีแบงก์จะขยายสินเชื่อก็ต้องมีการเพิ่มทุนอย่างแน่นอน
“ผมเห็นประโยชน์ในการจัดตั้งแบดแบงก์ เพื่อแยกเอาส่วนที่เป็นปัญหาออกจากธนาคาร และยืนยันว่าจะไม่ควบรวมกิจการทั้ง 2 แห่งเข้าด้วยกัน ซึ่งได้แจ้งผู้บริหารทั้ง 2 องค์กรว่า จำเป็นที่ต้องยกระดับการทำงาน เพราะความสำคัญของทั้ง 2 องค์กรในปัจจุบันมีมากขึ้น เพราะฉะนั้น แผนการควบรวมของทั้ง 2 องค์กร ต้องพักไปก่อน เพราะมีช่องทางอื่นที่ดีกว่า ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้รับทราบนโยบายนี้แล้ว และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็รับทราบแล้ว โดยเดิมที่ต้องการควบรวมนั้น เป็นช่องทางที่จะพิจารณาในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของทั้ง 2 องค์กร” นายกรณ์ กล่าว
ส่วนการเพิ่มทุนใน เอสเอ็มอีแบงก์ นายกรณ์ กล่าวว่า มีความจำเป็น เพราะหากจะให้ขยายสินเชื่อก็ต้องเพิ่มทุนให้ และคาดหวังว่า เอสเอ็มอีแบงก์จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง และการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น จึงต้องเพิ่มทุนให้ ส่วนจะต้องปรับการบริหารงานอย่างไร ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบ ซึ่งที่ผ่านมาทราบกันดีว่า เอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหาเรื่องบริหารจัดการ ทำให้มีหนี้เสียสูง
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2551 ที่ผ่านมา นายประดิษฐ์ มีแนวคิดจะเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาแนวทางการควบรวม บสย. เข้ากับ เอสเอ็มอีแบงก์ เนื่องจากต้องการลดภาระทางการเงินของรัฐบาล ในการจะต้องเพิ่มทุนให้กับทั้ง 2 สถาบัน