xs
xsm
sm
md
lg

ลงดาบ 10 ผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์ เอี่ยวทุจริต FRCD

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย สัจจพงษ์
คณะ กก. สอบ สั่งลงดาบ 10 ผู้บริหารเอสเอ็มอีแบงก์ เอี่ยวทุจริต FRCD เตรียมตั้งคณะ กก.พิจารณาโทษ และให้ ปปช. ลงความผิด ด้านที่ปรึกษา รมช.คลัง ระบุ สิ้นเดือน ก.ค. เตรียมออกนโยบายกำหนดทิศทางดำเนินงานของเอสเอ็มอีแบงก์

นายสมชัย สัจจพงษ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ในฐานะประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีคณะกรรมการชุดที่ผ่านมาได้ทำสัญญาออกตราสารบัตรเงินฝากแบบดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Certificate of Deposit : FRCD) ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ จำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยนำอัตราดอกเบี้ยไปทำสวอปพิเศษกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์เพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยไม่ประเมินภาพที่แท้จริง และทำเกินอำนาจ ซึ่งเกิดปัญหาทำให้เอสเอ็มอีแบงก์ อาจต้องจ่ายค่าปรับกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้คณะกรรมการได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ของเอสเอ็มอีแบงก์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน 10 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อผลเสียหายดังกล่าว จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมการลงโทษทางวินัยส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ( ปปช.) เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาความผิด โดยในสัปดาห์หน้าจะเสนอนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา

ด้านนายสมชาย สกุลสุรรัตน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาการสอบสวนทุจริต เกี่ยวกับการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ FRCD ที่มองกันว่าจะเกิดปัญหานั้น นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งกำกับดูแลเอสเอ็มอีแบงก์ ได้ให้นโยบายไปแล้วว่า หากบุคคลใดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมแต่ยังไม่ได้ลงมือทำก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ยอมรับว่าความเสียหายคงไม่ถึง 3 พันล้านบาทตามที่หลายฝ่ายกังวล โดยในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จะแถลงเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเอสเอ็มอีแบงก์ให้ทราบ ทั้งเรื่องปัญหาทุจริตการปล่อยสินเชื่อ การระดมทุนด้วยการออก (FRCD) การแก้ปัญหาฐานะการเงิน เพราะเบื้องต้นยังเห็นว่าเอสเอ็มอีแบงก์ยังมีศักยภาพที่จะเดินหน้าต่อไปได้ เพื่อเป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีแบงก์จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากได้กำหนดแผนฟื้นฟูให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น