xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเดินหน้าศูนย์กลางบริการสุขภาพ ดึงเกาหลีเป็นลูกค้าใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายราเชนทร์  พจนสุนทร  อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก
เร่งดันไทยสู่ศูนย์กลางบริการสุขภาพในภูมิภาค ระบุลูกค้าจากประเทศเกาหลีน่าสนใจ เพราะมีอัตราให้ความใส่ใจสุขภาพสูง

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือส่งเสริมของบริษัทจากเกาหลีใต้ คือ Global Medical Tour กับกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช และบริษัท NS Home Shopping กับกลุ่มโรงพยาบาลปิยะเวท เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาใช้บริการธุรกิจบริการเพื่อสุขภาพในไทย โดยระบุว่า ประเทศไทยพยายามผลักดันให้ชาวต่างชาติมารักษาพยาบาลและตรวจสุขภาพในไทย รวมทั้งการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติมาใช้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ เช่น สปา ในไทย โดยหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลและการบริหารจัดการธุรกิจ สุขภาพในเอเชีย(Healthcare and healthcare management center of Asia)

ทั้งนี้ ประเทศเกาหลีเป็นกลุ่มลูกค้าที่น่าสนใจ แม้จำนวนผู้ใช้บริการสุขภาพในประเทศไทยยังไม่ถึง 30,000 คน แต่จำนวนประชากรเกาหลี 9 ล้านคน ใช้จ่ายด้านสุขภาพร้อยละ 5.6 ของ GDP (ข้อมูล ปี 2546) สูงกว่าไทย (ประมาณร้อยละ 2 ของ GDP) อุตสาหกรรมสุขภาพของเกาหลีมีมูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 14.4 ของ GDP (ข้อมูลปี 2545) การจ้างงาน 950,000 คน มีจุดแข็งด้านการเจริญพันธุ์ การปลูกถ่ายยีนและเซลส์ต้นกำเนิด และใช้ระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลผ่านระบบประกันสุขภาพ

นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลี แม้ว่าจะพอใจกับระบบการรักษาพยาบาลของเกาหลี ซึ่งค่ารักษาถูกกว่า สหรัฐอเมริกา 1 ใน 9 และถูกกว่าญี่ปุ่น 1 ใน 4 รวมทั้งเกาหลีมีความพยายามที่จะส่งออกธุรกิจบริการรักษาพยาบาลสู่ต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และรัสเซียก็ตาม แต่การที่บริษัทเกาหลีร่วมมือกับธุรกิจบริการสุขภาพของไทย ส่งนักท่องเที่ยวเกาหลีตรวจสุขภาพและใช้บริการด้านสุขภาพในไทยครั้งนี้ แสดงว่าว่าธุรกิจบริการไทยมี จุดแข็งที่ได้เปรียบ และสร้างความสนใจให้มาใช้บริการในไทย

ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการจากประเทศต่างๆ มาใช้บริการธุรกิจรักษาพยาบาลในไทยมากขึ้น และประเทศที่เข้ามาใช้บริการก็มีมากขึ้น จึงส่งผลให้ธุรกิจรักษาพยาบาลและส่งเสริมสุขภาพของภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัว และผู้ประกอบการมีการขยายสาขาและเครือข่ายการให้บริการสู่ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประเทศไทยยังมีศูนย์บริการเฉพาะทางเพื่อรองรับลูกค้าเฉพาะกลุ่มและชาวต่างชาติอีกด้วย โดยมุ่งทำตลาดแบบเฉพาะกลุ่ม พร้อมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือ และความมั่นใจให้แก่ลูกค้าผ่านการประชาสัมพันธ์เพิ่มภาพลักษณ์ด้านความเชี่ยวชาญในการให้บริการและการรักษาเฉพาะทาง กอปรกับหน่วยงานต่างๆ ในหลายประเทศยังใช้นโยบายดังกล่าวของประเทศไทยเป็นแบบอย่างในการส่งเสริม Medical Tourism สู่ประเทศของตน

สถิติการใช้บริการด้านสุขภาพของชาวต่างชาติในประเทศไทย ประกอบด้วย โรงพยาบาลเอกชนในไทย 333 แห่ง 35,792 เตียง มีจำนวน 40 แห่งที่มีศักยภาพให้บริการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติ ในปี 2550 มีชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนไทย 1.37 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.14 จากปี 2549 (1.33 ล้านคน) แบ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ร้อยละ 17 สหรัฐฯ ร้อยละ 10 เอเชียใต้ ร้อยละ 6 อังกฤษ ร้อยละ 8 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 7 อาเซียน ร้อยละ 8 และอื่นๆ สร้างรายได้ให้ประเทศ ไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท ปี 2551 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.4 ล้านคน และปี 2552 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ตามอัตราการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย

นอกเหนือจากโรงพยาบาลเอกชน ยังมีคลีนิคเฉพาะทางอีก 17,396 แห่ง ประมาณร้อยละ 20 ให้บริการแก่คนไข้ชาวต่างชาติ ในด้านทันตกรรม รักษาด้านผิวหนัง ดูแลความงาม ตรวจสายตา ตรวจเช็คสุขภาพ ตรวจเลือด ที่สามารถทราบผลในเวลาน้อยวันโดยไม่ต้องพักค้างคืน

ส่วนธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพและเสริมสวย และธุรกิจนวดแผนไทย ที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ มีจำนวน 1,076 แห่ง ในกรุงเทพฯ 347 แห่ง และในภูมิภาค 729 แห่ง เป็นสปาที่ได้มาตรฐานระดับสากล 590 แห่ง เป็น Day spa 43% มีผู้ใช้บริการ 4.6 ล้านครั้ง ในปี 2548 สร้างรายได้ 425 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 14,500 ล้านบาทต่อปี ร้อยละ 80 เป็นชาวต่างชาติ ทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาจากประเทศอื่น ใช้บริการ Day spa ร้อยละ 69 ใช้บริการสปาในโรงแรมและรีสอร์ท ร้อยละ 28 ใช้บริการ Medical spa ร้อยละ 2

นายราเชนท์ ระบุด้วยว่า จากความพยายามพัฒนาธุรกิจบริการสุขภาพให้เป็นที่ยอมรับด้านมาตรฐานในกลุ่มผู้ใช้บริการชาวต่างชาติ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆ ได้กำหนดมาตรฐานโรงพยาบาล (Hospital Accreditation) หรือ HA มาตรฐานสถานประกอบการสปา มาตรฐานกิจการนวดเพื่อสุขภาพ มาตรฐานผู้ดำเนินการสปา มาตรฐานผู้ให้บริการ รวมทั้งมาตรฐานแรงงาน และอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งกรมส่งเสริมการส่งออกได้ตอบรับและร่วมผลักดันให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
กำลังโหลดความคิดเห็น