xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ป่วยบุก สปส.ทวงสัญญาเพิ่มสิทธิประโยชน์โรคไต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้ผู้ป่วยบุกประกันสังคม ทวงสัญญาเพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ป่วยไตเรื้อรัง ฉะยื่นหนังสือมาตั้งแต่ 7 เดือน ที่แล้วทำเฉย อึ้ง! ผู้บริหาร สปส.พูดง่าย ไม่อนุมัติ เพราะผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทำงานไม่ได้ เลยไม่อยากให้สิทธิ ป้องกันคนสวมรอยมาใช้เงินกองทุน ระบุถ้าไม่พอใจบริการ ไม่อยากจ่ายเงินสมทบค่ารักษาพยาบาล ให้ทำหนังสือยกเลิกมาได้ทันที

วันนี้ (26 มี.ค.) ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเพื่อโรคไต พร้อมด้วยน.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ พร้อมด้วยกลุ่มผู้ป่วยโรคไต และภาคีเครือข่าย กว่า 50 คน เดินทางมาท้วงถามสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตวายที่ สปส.ยังไม่ครอบคลุม โดยได้ยื่นหนังสือถึงนายจุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ เลขาธิการ สปส.เรื่อง ขอให้ผู้ป่วยโรคไตที่ยังไม่ได้รับประโยชน์ (ป่วยก่อนประกันตน) ได้รับสิทธิประโยชน์ โดยนายจุรินทร์ ลงมารับเรื่องด้วยตนเอง จากนั้นได้เข้าประชุมร่วมกับตัวแทนผู้ป่วยโรคไต

โดย นายสุบิล กล่าวว่า ชมรมเพื่อนโรคไตได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ สปส.จัดสรรสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ทำประกันตนหลังจากที่ป่วยเป็นโรคไตแล้ว ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ไม่มีสิทธิได้รับค่ารักษาทดแทนไต ยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือด และสิทธิ์บางประการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 จนถึงขณะนี้ผ่านมา 7 เดือนแล้ว สปส.ยังไม่มีการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนเหล่านี้แต่อย่างใด ขณะที่ผู้ป่วยบัตรทองในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลับได้รับการคุ้มครองสิทธิ์ในการรักษาโรคตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550

“การหารือครั้งที่แล้วคุณสุรินทร์ บอกว่า หาก สปสช.ขยายสิทธิประโยชน์รักษาโรคไตวายฟรีเมื่อไร สปส.ก็จะดำเนินการตามทันที แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งจากการคาดการณ์คาดว่ามีผู้ประกันตนที่ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ตกหล่นไม่ได้รับการรักษาฟรีทั่วประเทศประมาณ 1,000 ราย ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นผู้ประกันตนตัวจริง จ่ายเงินสมทบให้กับสปส. ทุกเดือนไม่ได้สวมสิทธิ์เข้ามารักษาฟรี กลับไม่ได้รับสิทธิที่ควรได้” นายสุบิล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในการหารือเป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากคณะผู้บริหาร สปส.ชี้แจงเหตุผลที่ยังไม่มีการรับรองสิทธิ์ให้กับผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายว่า คณะกรรมการแพทย์ชุดเก่าได้เคยพิจารณาเรื่องนี้แล้ว และให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยไตวาย คือ ผู้ที่ไตมีปัญหาเหลือประสิทธิภาพการทำงานเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถทำงานได้เหมือนคนปกติ ดังนั้นสถานประกอบการ บริษัทต่างๆ จะไม่รับคนเหล่านี้เข้าทำงาน ขณะเดียวกัน ขณะนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็ยังไม่ขยายสิทธิประโยชน์รักษาผู้ป่วยไตวายฯ ฟรีด้วยเช่นกัน จึงห่วงว่าจะมีผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นลูกจ้าง พนักงานจริงจะแฝงตัวเข้ามาเป็นผู้ประกันตนเพื่อเข้ามารับสิทธิรักษาฟรี จึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ป่วยโรคไต อย่างมาก

โดยนายณภัทร ฐิติเพชร อายุ 31 ปี ผู้จัดการร้านซึทาญ่า (ร้านเช่าวีซีดี ดีวีดี) กล่าวว่า ตนป่วยเป็นโรคไตวาย ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 จนกระทั้งเรียกจบก็ได้ทำงานที่ร้านซึทาญ่าทันที ก็ต้องย้ายสิทธิรักษาพยาบาลจากเป็นผู้ป่วยบัตรทองมาใช้สิทธิประกันสังคม ก็ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือนติดต่อกันมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่กลับไม่ได้สิทธิในการรักษาฟรี ต้องเสียเงินรักษาเองตกเดือนละประมาณ 11,700 บาท เป็นการฟอกเลือดเดือนละ 9 ครั้ง และยาฉีดกระตุ้นเม็ดเลือดอีก 9 เข็ม หากได้รับการฟอกเลือดก็จะแข็งแรงสามารถทำงานได้เหมือนคนปกติ แต่ถ้าไม่ได้ฟอกเลือดร่างกายจะอ่อนเพลียไม่สามารถทำงานได้ และเสียชีวิตในที่สุด

ด้าน นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนไม่มีสิทธิในการสั่งการให้ขยายสิทธิ์คุ้มครองผู้ป่วยต่างๆ ได้ เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการแพทย์ และบอร์ด สปส.แต่รับปากว่าตนจะนำเรื่องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการแพทย์ ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกในต้นเดือนเมษายนนี้ เมื่อมีผลออกมาอย่างไร ก็จะรายงานให้บอร์ด สปส.ชุดใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหา โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้ภายใน 2 เดือน ซึ่งหากบอร์ดเห็นชอบขยายสิทธิ์คุ้มครองผู้ป่วยโรคไตวายฯ ตามที่ตนเสนอ ตนก็จะเสนอให้มีการจ่ายเงินชดเชยผู้ป่วยโรคไตวายฯ ที่ต้องเสียเงินรักษาโรคด้วยตนเองด้วย ซึ่งถือเป็นของแถม อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ที่ยังไม่มีการเห็นชอบผู้ป่วยจะต้องจ่ายเงินรักษาโรคเองไปก่อน

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สปส.จะออกประกาศแจ้งไปยังจังหวัดต่างๆ โรงพยาบาลเครือข่ายทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยไตวาย มาลงทะเบียนยัง สปส.ประจำจังหวัด เพื่อเก็บเป็นฐานข้อมูล หาก สปส.ขยายสิทธิคุมครองเมื่อไรก็จะเรียกมารับการรักษาฟรีทันที ซึ่งข้อมูลล่าสุดเมื่อต้นปี 2551 สปส.มีผู้ประกันตนป่วยเป็นโรคไตวายฯ ทั้งสิ้น 531 คน

“หากผู้ประกันตน หรือเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ เห็นว่า การจ่ายเงินสบทบเรื่องค่ารักษาพยาบาล ที่ต้องจ่ายร้อยละ 0.88 ต่อเดือน เห็นว่า ไม่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิรักษาพยาบาลดีเท่าที่ควร จนต้องไปซื้อประกันสุขภาพของเอกชน หรือต้องควักเงินจ่ายค่ารักษาเอง ซึ่งถือเป็นการเสียภาษี 2 เด้ง ให้ทำหนังสือขอให้ยกเลิกการเก็บเงินส่วนดังกล่าวมาที่ผมได้ทันที ผมจะเร่งนำเสนอต่อที่ประชุทมบอร์ด สปส. เพื่อให้พิจารณายกเลิก เพราะผมก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ประชาชนต้องเสียภาษี 2 เด้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ผมพูดมา 2 ปีแล้ว” เลขาธิการ สปส.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น