xs
xsm
sm
md
lg

จ่ายเงินสมทบประกันสังคมแล้วได้อะไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2551 เสนอข่าวกรณี น.ส. สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากบริษัทเอกชนว่าผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์น้อยมากนั้น ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม ขอเรียนว่า ท่านผู้ประกันตนจำนวนมากอาจจะยังไม่ทราบสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับจากกองทุนประกันสังคมอย่างครบถ้วน จึงขอสรุปภาพรวมเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทั้งหมดที่ท่านผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคม เพื่อให้เห็นว่า จากเงินที่ท่านสมทบเข้ากองทุนในแต่ละเดือนนั้น ท่านได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง
ในจำนวนเงินสมทบ 5.0% ที่ท่านส่งสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- 1.5% ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย ทุพพลภาพ ตาย และคลอดบุตร
- 3.0% ให้ความคุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ในส่วนนี้คือเงินออมชราภาพนั่นเอง
- 0.5% ให้ความคุ้มครองกรณีว่างงาน
นอกจากส่วนที่ท่านสมทบแล้ว นายจ้างของท่านยังสมทบให้อีก 5.0% รัฐบาลสมทบให้ 2.75% รวมเงินที่สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 12.75% ต่อเดือน
เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอยกตัวอย่างนางสาวจันทรา พนักงานบริษัทเอกชน ปัจจุบันอายุ 20 ปี มีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท สมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 5% ของเงินเดือน คือ 10,000 x 5% = 500 บาท นายจ้างสมทบอีก 10,000 x 5% = 500 บาท รัฐบาลสมทบให้ 10,000 x 2.75% = 275 บาท บาท รวมเงินสมทบ 1,275 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินสมทบทั้งหมดดูแลสิทธิของ น.ส. จันทราดังนี้

เงินสมทบของ น.ส. จันทราในส่วนแรกจำนวน 150 บาทนั้น เปรียบเสมือนการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตและประกันสุขภาพ หากนางสาวจันทราไม่ได้เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย หรือไม่มีบุตร ก็อาจจะยังไม่ได้ใช้สิทธิ แต่เมื่อใดก็ตามที่เจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย หรือคลอดบุตร กองทุนประกันสังคมก็จะดูแลตามสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย เราลองมาดูรายละเอียดกันว่า น.ส. จันทราได้รับอะไรบ้างจากเงินสมทบจำนวน 150 บาทต่อเดือน

1. กรณีเจ็บป่วย/ประสบอันตราย หาก น.ส. จันทราเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุและได้จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน จะได้รับสิทธิดังนี้
1.1 กรณีเจ็บป่วยปกติ จะได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ โรงพยาบาลที่เลือกไว้ตามบัตรรับรองสิทธิ ทั้งนี้ มีโรคและบริการที่ยกเว้นไม่ได้รับสิทธิในการรักษา เพราะถือว่าไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ได้แก่ การเสริมสวย การรักษาการมีบุตรยาก การใช้สารเสพติด การเปลี่ยนเพศ การฆ่าตัวตาย เป็นต้น
1.2 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและอุบัติเหตุ น.ส. จันทราอาจจะไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิได้ ก็สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่จะต้องรีบแจ้งให้โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิทราบโดยด่วนภายใน 72 ชั่วโมง และจะต้องทดรองค่าใช้จ่ายไปก่อนแล้วนำใบเสร็จพร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกค่าใช้จ่าย โดยกองทุนจะดูแลค่ารักษาพยาบาลเฉพาะ 72 ชั่วโมงแรก (ไม่นับวันหยุดราชการ) ค่าใช้จ่ายที่สามารถเบิกได้มีดังนี้
กรณีผู้ป่วยนอก – โรงพยาบาลรัฐบาล เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นทั้งหมด
กรณีผู้ป่วยนอก – โรงพยาบาลเอกชน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท ส่วนที่เกิน 1,000 บาท จะเบิกได้ตามรายการในประกาศของคณะกรรมการการแพทย์
กรณีผู้ป่วยใน – โรงพยาบาลรัฐบาล เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง รวมทั้งเบิกค่าห้องและค่าอาหารได้อีกไม่เกินวันละ 700 บาท
กรณีผู้ป่วยใน – โรงพยาบาลเอกชน เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกินวันละ 2,000 บาท เบิกค่าห้องและค่าอาหารได้ไม่เกินวันละ 700 บาท กรณีรักษาในห้อง ICU สามารถเบิกค่าห้อง ค่าอาหาร และค่ารักษาพยาบาลรวมกันไม่เกินวันละ 4,500 บาท กรณีผ่าตัดใหญ่สามารถเบิกค่าผ่าตัดได้ไม่เกินครั้งละ 8,000 - 16,000 บาท ตามระยะเวลาการผ่าตัด นอกจากนี้ ยังสามารถเบิกค่ารักษาอื่นๆ ตามความจำเป็นตามรายการที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เช่น ทำ CT-scan เบิกได้ 4,000 บาท ทำ MRI เบิกได้ 8,000 บาท เป็นต้น
1.3 กรณีทันตกรรม สามารถถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน โดยไปรับบริการทันตกรรมที่ใดก็ได้แล้วนำใบเสร็จมาเบิกคืนได้ไม่เกิน 250 บาท/ครั้งหรือไม่เกิน 500 บาท/ปี ส่วนกรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก 1-4 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1,200 บาท ตั้งแต่ 5 ซี่ขึ้นไป เบิกได้ไม่เกิน 1,400 บาท และฟันเทียมนี้จะต้องใช้งานไป 5 ปี
1.4 โรคเฉพาะทาง นอกจากที่กล่าวข้างต้น การบริการทางการแพทย์ยังรวมถึงโรคเฉพาะทาง ได้แก่ การปลูกถ่ายไขกระดูก การเปลี่ยนอวัยวะกระจกตา การบำบัดทดแทนไตกรณีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น
1.5 เงินทดแทนการขาดรายได้ หาก น.ส. จันทรา ต้องลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างครบ 30 วัน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้วยังต้องหยุดงานต่อไปอีกตามคำสั่งแพทย์ กองทุนจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้เท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยตามจำนวนวันที่หยุดจริง เนื่องจาก น.ส. จันทรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เท่ากับ (10,000 x 50%) = 5,000 บาทต่อเดือนครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้ ยกเว้นการเจ็บป่วยเรื้อรัง
2. กรณีทุพพลภาพ หาก น.ส. จันทราเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุจนถึงขั้นทุพพลภาพและไม่สามารถทำงานได้แล้ว และได้จ่ายเงินสมทบครบ 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือน จะมีสิทธิได้รับ
- ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 2,000 บาทต่อเดือน
- รับเงินออมกรณีชราภาพกลับคืนไปทั้งหมด
- รับเงินทดแทนการขาดรายได้เท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เนื่องจาก น.ส. จันทรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เท่ากับ (10,000 x 50%) = 5,000 บาทต่อเดือนไปตลอดชีวิต
- เมื่อเสียชีวิตได้ค่าทำศพ 40,000 บาท (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2550)
- หากเข้ารับการฟื้นฟูที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานจะได้รับค่าฟื้นฟูอีก 40,000 บาท
3. กรณีตาย หาก น.ส. จันทราเสียชีวิตโดยได้จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือนภายในระยะเวลา 6 เดือน มีสิทธิดังนี้
- ผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพจำนวน 40,000 บาท (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2550)
- ทายาทรับเงินออมกรณีชราภาพกลับคืนไปทั้งหมด
- หากจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ทายาทจะได้รับเงินสงเคราะห์ 1.5 เท่าของเงินเดือน กรณี น.ส. จันทรา ทายาทจะได้รับเป็นเงินสงเคราะห์ 10,000 x 1.5 = 15,000 บาท หากสมทบตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับเพิ่มเป็น 5 เท่า คือทายาทจะได้รับเงินจำนวน 10,000 x 5 = 50,000 บาท
4. กรณีคลอดบุตร หาก น.ส. จันทราได้จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 7 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันคลอดบุตร (ระยะเวลา 15 เดือนนี้ไม่นับเดือนที่คลอด) จะมีสิทธิเบิกค่าคลอดแบบเหมาจ่ายจำนวน 12,000 บาท เป็นการรวมค่าใช้จ่ายตั้งแต่การฝากครรภ์ การคลอด การดูแลหลังคลอด และการบริบาลทารกปกติ ในกรณีของ น.ส. จันทราซึ่งเป็นผู้ประกันตนหญิง นอกจากจะได้ค่าคลอดแล้วยังสามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน น.ส. จันทราจึงมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรอีก (10,000 x 50% x 3 เดือน) = 15,000 บาท เมื่อรวมกับค่าคลอดเหมาจ่าย 12,000 บาท ได้รับเงินรวม 27,000 บาท
5. กรณีสงเคราะห์บุตร หากน.ส. จันทราได้จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 12 เดือนภายในระยะเวลา 36 เดือน จะมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์บุตรคนละ 350/บุตร 1 คน/เดือน ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ โดยได้รับสิทธิคราวละไม่เกิน 2 คน (ท่านที่ไม่มีบุตรอาจจะรู้สึกว่าท่านเสียเปรียบที่ไม่มีสิทธิรับเงินนี้ แต่โปรดสังเกตจากตารางว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องสงเคราะห์บุตรนี้ได้มาจากเงินสมทบของรัฐบาล ไม่ได้มาจากเงินสมทบของท่านหรือของนายจ้าง)
6. กรณีชราภาพ เงินสมทบอีกก้อนหนึ่งคือ 300 บาท เป็นเงินออมของ น.ส. จันทราที่เก็บออมไว้ใช้ยามเกษียณ หาก น.ส. จันทราทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 35 ปีแล้วออกจากงาน ครบเงื่อนไขคือเกษียณที่อายุ 55 ปีและสมทบเกินกว่า 180 เดือน มีสิทธิรับ “บำนาญ” จำนวน (20% x 10,000) + (1.5% x 20 ปีที่สมทบเพิ่ม x 10,000) = 5,000 บาทต่อเดือนทุกเดือนตลอดชีวิต
7. กรณีว่างงาน เงินสมทบก้อนสุดท้ายจำนวน 50 บาท เป็นการคุ้มครองกรณีว่างงาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
7.1 กรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานเท่ากับร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย ระยะเวลาการจ่ายไม่เกิน 180 วัน
7.2 กรณีลาออกหรือถูกเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาของสัญญาจ้าง จะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานเท่ากับร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย ระยะเวลาการจ่ายไม่เกิน 90 วัน
ท่านคงเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า หากท่านมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท และได้ส่งเงินสมทบจำนวน 500 บาทในแต่ละเดือนนั้น ท่านได้ออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเดือนละ 300 บาท นายจ้างช่วยสมทบอีก 300 บาท รวมเป็นเงินที่ท่านออมกับกองทุนประกันสังคมเดือนละ 600 บาท ซึ่งสำนักงานประกันสังคมออมไว้เตรียมจ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อท่านเกษียณ ในขณะนี้ ผู้ประกันตนจำนวน 9.18 ล้านคนมีเงินออมรวมกันมากกว่า 4 แสนล้านบาท
หากท่านต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเข้าไปที่เว็บไซด์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือสอบถามได้ที่สายด่วน โทร. 1506
กำลังโหลดความคิดเห็น