เผยโครงการฟันเทียมพระราชทานส่อปรับลดขนาดโครงการลง ทำให้ผู้สูงอายุอีก 6 แสน ไม่เข้าถึงบริการ ระบุ เตรียมหารือปลัดหาทางออก เชื่อทุกฝ่ายอยากเดินหน้าโครงการต่อ ด้านคลินิกเอกชนเริ่มหยุดให้บริการ ขอเคลียร์เงินที่สธ.ยังไม่ได้จ่าย ก่อนเดินหน้าต่อ
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้โครงการฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค.2550 ที่กรมอนามัยเสนอให้ดำเนินโครงการต่อเนื่องอีก 3 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2553 มีปัญหางบประมาณในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายมีท่าทีไปในทางบวกที่จะเดินหน้าต่อไป โดยในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข จะมีการหารือร่วมกันกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันหาทางออก อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่ผ่านมา 6 เดือน จะไม่ได้รับผลกระทบ ไม่มีปัญหา โดยในส่วนนี้จะใช้งบประมาณที่สปสช.อนุมัติงบประมาณจำนวน 30 ล้านบาทและเงินจากกองทุนฟันเทียมพระราชทาน
“จะเดินหน้าโครงการอย่างไรต่อไปคงต้องหารือกันก่อน ซึ่งอาจต้องลดเป้าหมายการดำเนินการลง ส่วนในปี 2552 ก็เหมือนที่เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า หากเห็นว่ามีความจำเป็นก็สามารถตั้งงบประมาณในปี 2552 เพื่อดำเนินการโครงการต่อได้ เพราะเข้าใจในข้อจำกัด ว่า อาจจะดำเนินการมอบฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งการดำเนินโครงการต่อเนื่อง 3 ปี จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 400-500 ล้านบาท” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่ง นพ.มรกต กรเกษม รมช.สธ.อนุมัติโครงการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. ซึ่งเดิมโครงการนี้ ช่วยเหลือผู้สูงอายุโดยมอบฟันเทียมอยู่แล้ว 3,000-4,000 คนต่อปี เมื่อมีโครงการฟันเทียมพระราชทาน ทำให้มีผู้สูงอายุได้มากขึ้นจาก 3,000 ราย เป็น 30,000 ราย 3 ปี มีผู้ผู้สูงอายุได้รับฟันเทียม 90,000 ราย ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าเป้าหมาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใส่ฟันเทียมจากกว่า 1 หมื่นบาท เหลือ 4,100 บาทต่อราย ซึ่งเท่ากับ 40% ของค่าใช้จ่ายปกติแต่ยังเหลือผู้สูงอายุที่ยังตกค้างอีกกว่า 5-6 แสนรายที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการ
ด้าน ทพ.ธรณินทร์ จรัสจรุงเกียรติ ประธานชมรมทันตแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาโครงการฟันเทียมพระราชทาน เนื่องมาจากงบประมาณไม่ชัดเจนกำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งหากยังไม่มีความชัดเจนเช่นนี้เกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินทุนในอีก 2 เดือนข้างหน้า อาจจะต้องมีการปรับลดเป้าหมายโครงการลง และมีความเป็นไปได้ที่จะกลับสู่การให้บริการตามปกติที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุปีละ 5,000 ราย โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาในส่วนของชมรมทันตแพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และชมรมทันตแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศจะมีการประชุมหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หากไม่มีงบประมาณสนับสนุน
“ขณะนี้คลินิกทันตกรรมของเอกชนที่เข้าร่วมให้บริการในโครงการฯ เริ่มที่จะหยุดการให้บริการเนื่องจากได้ร้องขอให้ทางฝ่ายรัฐบาลเร่งเคลียร์งบประมาณที่ค้างไว้ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 จนถึงปัจจุบันก่อน จึงจะดำเนินการขึ้นต่อไปได้”ทพ.ธรณินทร์ กล่าว
ทพ.ธรณินทร์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่า โครงการดังกล่าวจะไม่ล้ม เพราะถ้าไม่มีงบประมาณ จริงๆ ทุกคนก็ต้องร่วมกันรณรงค์ระดมหาทุน เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คนไทยทุกคนก็จะช่วยกัน และไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะปล่อยให้ถึงช่วงเวลานั้น
ขณะที่ ทพญ.พรรณี ผานิดานันท์ ประธานชมรมทันตแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการคงจะไม่สามารถปฏิเสธการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ แต่หากไม่มีงบประมาณ ก็จำเป็นต้องปรับจำนวนกลุ่มเป้าหมายลง ทั้งนี้ อยากให้ฝ่ายบริหารที่รับผิดชอบงบประมาณ ควรจะต้องชี้แจงแหล่งที่มาของเงินทุน หากจำเป็นจริงๆ อยากให้ประคับประคองโครงการจนสิ้นในปีงบประมาณนี้ แต่ต้องชี้แจงให้คนในพื้นที่ทราบและเกิดความชัดเจน ส่วนในปีงบประมาณหน้าจะดำเนินการอย่างไรจึงค่อยหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
“เห็นด้วยกับโครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมีประโยชน์มาก ที่สำคัญผู้สูงอายุที่เดิมการทำฟันเทียมมีราคาแพงมาก ขณะที่ระบบประกันสุขภาพ ทั้งข้าราชการ และประกันสังคมยังไม่คลอบคลุม แต่โครงการนี้จะให้ฟันเทียมพระราชทานเท่าเทียมกัน ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ทพญ.พรรณี ผานิดานันท์ กล่าว