xs
xsm
sm
md
lg

7 ปี ไทยมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 8 แสนคน ร้อยละ 98 อยู่อย่างอมทุกข์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ชี้ รอบ 7 ปี ไทยมีผู้พิการเพิ่มขึ้น 8 แสนคน เฉลี่ยปีละกว่า 1 แสนคน ร้อยละ 98 มีปัญหาสุขภาพ ต้องอยู่อย่างทุกข์ทรมาน มอบกรมการแพทย์จัดโรงหมอเคลื่อนที่ บริการผู้พิการและผู้สูงอายุถึงชนบทดูแลเป็นพิเศษฟรี ทั้งตรวจรักษาโรค ทำฟัน ตรวจตา มอบแว่นตา ทำแขนขาเทียม มอบอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุ เผยผลสำเร็จ 2 ปีที่ผ่านมาผู้รับบริการพึงพอใจการบริการสูง เฉลี่ยเกินร้อยละ 90 สามารถช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุแล้วกว่า 18,000 คน

วานนี้ (21 เม.ย.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ เป็นประธานเปิดงานโครงการ “กรมการแพทย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบเบ็ดเสร็จปี 2551” ที่ซุ้มพุทธ มามกะ องค์พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม จัดโดยกรมการแพทย์ ให้บริการตรวจรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้พิการและผู้สูงอายุในทุกภาคอย่างครบวงจรต่อเนื่อง โดยมอบรถนั่งคนพิการ 120 คัน รถโยกมือ 30 คัน อุปกรณ์ช่วยการเดินกว่า 100 ชิ้น เครื่องช่วยฟัง 500 เครื่อง และแว่นตา 1,200 อัน

นายไชยา กล่าวว่า ขณะนี้ผู้พิการในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2550 พบว่า มีผู้พิการประมาณ 1.9 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 3 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปี 2544 ซึ่งมีประมาณ 1.1 ล้านคน เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 แสนคน อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 772,931 คน รองลงมาได้แก่ ภาคเหนือ 518,624 คน ภาคกลาง 379,420 คน ที่เหลืออยู่ในภาคใต้ โดยอยู่ในชนบทมากกว่าเขตเมือง 2 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามอายุ มากที่สุดในกลุ่มอายุ 75 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 31 สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากโรคแทรกซ้อน ที่พบมากที่สุดคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คาดว่าปัญหาจะรุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น เฉลี่ยชาย 68 ปี และหญิง 75 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 3-6 ปี

ทั้งนี้ พบว่า ในกลุ่มผู้พิการ จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพสูงกว่าคนทั่วไป ประมาณ 10 เท่าตัว เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดูแลจากความพิการ ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย โดยพบว่าผู้พิการร้อยละ 98 มีปัญหาสุขภาพ เช่น ฟันผุ ตาพร่ามัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน จากเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อย เมื่อเจ็บป่วยไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์โดยลำพังได้ ต้องทนอยู่กับโรค ได้มอบนโยบายให้กรมการแพทย์ จัดบริการคล้ายโรงพยาบาลรุกถึงพื้นที่ นอกจากการตรวจรักษาโรคฟรีแล้ว ให้เพิ่มการจัดอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุ เช่นทำแขน-ขาเทียม จัดรถเข็น ไม้เท้า เครื่องช่วยเดิน เครื่องช่วยฟัง แว่นตาให้ฟรี ให้ใช้ชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้พิการเป็นบุคคลที่มีคุณค่าในสังคม สามารถทำงานมีรายได้เลี้ยงตนเอง

ด้านนพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับปี 2551 ตั้งเป้าหมายให้บริการผู้พิการใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย เพชรบุรี นครปฐม นครศรีธรรมราช และสกลนคร ใช้งบประมาณกว่า 17 ล้านบาท โดยหน่วยบริการเคลื่อนที่ได้จัดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา จากศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ สถาบันประสาทวิทยา สถาบันทันตกรรม เพื่อให้บริการครบวงจร ทั้งตรวจโรคตา คัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา ตัดแว่นสายตา ตรวจหู แจกเครื่องช่วยฟัง ทำแขน-ขาเทียม แจกรถนั่ง เครื่องช่วยเดิน ตรวจข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ ตรวจประเมินความพิการเพื่อจดทะเบียนผู้พิการ ทำฟัน รวมทั้งอบรมเจ้าหน้าที่ให้สามารถดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการอย่างต่อเนื่อง

นพ.เรวัต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ดำเนินการแล้วที่สุโขทัย และ เพชรบุรี ให้บริการผู้พิการประมาณ 5,000 คน และกำหนดออกให้บริการที่นครศรีธรรมราช วันที่ 27 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2551 และสกลนคร วันที่ 22-29 กรกฎาคม 2551 ในรอบ 2 ปีมานี้ ให้บริการผู้พิการและผู้สูงอายุไปแล้ว 18,215 คน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พะเยา นครราชสีมา หนองคาย พังงา กาญจนบุรี นครสวรรค์ สุรินทร์ และชุมพร จากการประเมินผลพบว่า ผู้มารับบริการและญาติ มีความพึงพอใจระดับสูง เฉลี่ยร้อยละ 90 เนื่องจากสะดวกในการเดินทาง และได้รับบริการที่มีคุณภาพ รวดเร็ว

สำหรับจังหวัดนครปฐม ให้บริการวันที่ 21-22 เมษายน 2551 ตั้งเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 3,000 คน มีบริการทำฟัน ตรวจวัดสายตา คัดกรองเบาหวานเข้าจอประสาทตา แจกแว่นสายตา 1,200 คน ตรวจวัดการได้ยิน 500 คน ทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด ผลิตและซ่อมแซมแขนขาเทียม 800 คน มอบรถนั่ง เครื่องช่วยเดิน ตรวจข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ 300 คน ตรวจประเมินความพิการเพื่อขึ้นทะเบียน และต่อทะเบียนผู้พิการให้ได้มากที่สุดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น