xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ทุ่ม 200 ล.โครงการข้อเข่าเทียมช่วยผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปสช.พบผู้สูงอายุเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มสูง ทุ่มงบกว่า 200 ล้าน จับมือองค์การเภสัชกรรมโครงการข้อเข่าเทียม หวังสร้างกลไกการตลาดจัดระบบการจัดซื้ออุปกรณ์และอวัยวะเทียมให้ผู้สูงอายุนำร่อง ปีแรก 4,000 ราย เผยให้ผู้สูงอายุไม่ต้องรอคิวนาน ระบุลดภาระค่าใช้จ่ายให้หน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่โรงแรมสยามซิตี้ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ดสปสช.พร้อมด้วย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมลงนามความร่วมมือเรื่อง “โครงการข้อเข่าเทียม” เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมได้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.มงคล กล่าวว่า ข้อมูลจากสารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 16 มกราคม 2550 ระบุจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 7 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10 ในจำนวนนี้แบ่งเป็นอายุ 80 ปีขึ้นไป มีจำนวนถึง 648,000 คน และคาดว่า อีก 13 ปี สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15 ซึ่งเป็นแนวโน้มเหมือนกันทั่วโลก โดยผู้สูงอายุจะถูกคุกคามจากโลกต่างๆ ทั้งโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน รวมทั้งโรคข้อเข่าเสื่อม จึงต้องเตรียมการรองรับอย่างเหมาะสม เพราะผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะมีโอกาสเกิดโรคมากกว่าวัยอื่นๆ ถึง 4 เท่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุในวัย 80 ปีขึ้นไป ต้องได้รับการดูแลพิเศษเนื่องจากเกิดโรคในวัยนี้แล้ว ล้วนสะสมมาตั้งแต่วัยกลางคน

นพ.มงคล กล่าวต่อว่า สปสช.ได้ร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการพัฒนาการบริหารยาและเวชภัณฑ์โดยระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) ในโครงการยาต้านไวรัสเอดส์ ยาต้านวัณโรค ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีนั้นในปีงบประมาณ 2551 จึงได้พัฒนาระบบ VMI ไปสู่การบริหารอุปกรณ์และอวัยวะเทียมในการบำบัดโรค เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดข้อเข่าเทียมได้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น และจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่หน่วยบริการที่สมัครเข้าร่วมโครงการในด้านการเงิน โดยหน่วยบริการไม่ต้องสำรองเงินจ่ายก่อน

นพ.ประทีป กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา พบว่า ราคากลางค่าข้อเข่าเทียมที่ สปสช.ตั้งไว้นั้น หน่วยบริการบางแห่งไม่สามารถจัดซื้อได้ เนื่องจากราคากลางที่ สปสช.ตั้งไว้ 50,000 บาท/ราย เมื่อเทียบกับที่สำนักงบประมาณตั้งไว้ให้หน่วย 65,000บาท/ราย จึงมีการให้บริการผ่าตัดในปริมาณที่จำกัด หรือต้องเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยในส่วนต่างที่ไม่ได้รับการชดเชย ทั้งนี้ จากข้อมูลของ สปสช.ในปีที่ผ่านมา มีหน่วยบริการที่ขอเบิกข้อเข่าเทียมมายังสปสช. มีจำนวน 117 แห่ง ผู้ป่วยทั้งหมดที่ได้รักการผ่าตัดมีจำนวน 2,913 ราย โดยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 2,021 ราย โดยที่ สปสช.ได้จ่ายค่าชดเชยค่าข้อเข่าให้หน่วยบริการไปแล้ว 148.50 ล้านบาท

“คาดว่า โครงการนี้จะเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยให้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าตามความจำเป็นทางการแพทย์ ตลอดจนช่วยลดภาระทางการเงินทั้งของผู้ป่วยและหน่วยบริการ เนื่องจากการสั่งซื้อในปริมาณมากทำให้ราคาลดลง และการลดต้นทุนจากเทคโนโลยีการบริหารจัดการพัสดุในระบบ VMI สำหรับในปี 2551 นี้ มีหน่วยบริการเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีทั้งภาครัฐและเอกชนสมัครเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้น 68 แห่ง โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดจากโครงการนี้ประมาณ 4,000 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปี ภายใต้งบประมาณ 200 ล้านบาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช.1330” นพ.ประทีป กล่าว

ขณะที่ นพ.วิทิต กล่าวว่า ในการดำเนินการนั้นจะมีการสั่งซื้อเป็นคราวๆ ไป มีกำหนดเวลา 12 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550-13 ตุลาคม 2551 เป็นเงินประมาณ 200 ล้านบาท โดยตลอดอายุสัญญานี้ อภ.รับจะจัดหาสิ่งของให้ตลอดอายุสัญญา ซึ่งแนวทางการดำเนินการนั้น อภ.ให้บริการกับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ มีการประสานงานระหว่างกัน อภ.และโรงพยาบาล ซึ่งทาง อภ.จะเป็นผู้จัดส่งข้อเข่าเทียมให้ตามความต้องการใช้ของหน่วยบริการ และ อภ.จะเป็นผู้เบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่หน่วยบริการที่สมัครเข้าร่วมโครงการในด้านการเงิน โดยหน่วยบริการไม่ต้องสำรองเงินจ่ายก่อน

กำลังโหลดความคิดเห็น