xs
xsm
sm
md
lg

ปี 50 อภ.ฟันกำไรพัน ล. ไฟเซอร์ทำยอดสูงสุด 7 พันล. “ไชยา” ยันไม่รื้อบอร์ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อภ.เผยปี 50 ฟันกำไร 1,147 ล้านบาท อัตราการเติบโตทางธุรกิจมากที่สุดถึง 29% ตั้งเป้าวิจัยพัฒนายาใหม่ 17 รายการ ช่วยลดราคายาได้ 17 รายการ ไชยาชมอภ.เปาะ แถมยันไม่เปลี่ยนบอร์ดเพราะบริหารงานดี เอ่ยปากหากเอาคนใหม่มาบริหารงานไม่ดีเท่าจะทำอย่างไร

วันนี้ (26 มี.ค.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินการขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) โดยมีนพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม พร้อมผู้บริหารและพนักงานในการต้อนรับ

นพ.วิทิต กล่าวว่า การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2550 ที่ผ่านมา อภ.มีผลประกอบการรวม 5,444.73 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิประมาณ 1,147 ล้านบาท และนำรายได้ส่งเข้ารัฐร้อยละ 35 เป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ อภ.มีการปรับโครงสร้างการบริหาร เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ ในการเป็นผู้นำในธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์ และจำเป็นต่อสังคมไทยอย่างเป็นธรรม โดยผลิต จำหน่าย บริการยาและเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพพร้อมมุ่งสู่มาตรฐานสากล มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการเข้าถึงยาควบคู่กับการรักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อสังคมไทย ตลอดจนพัฒนาศักยภาพเชิงธุรกิจในการแข่งขันเพื่อความสามารถพึ่งพิงตนเอง

นพ.วิทิต กล่าวต่อว่า ส่วนในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนายาและเวชภัณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับความต้องการบำบัดรักษาของผู้ป่วยทั้งหมด 13 รายการ ส่วนเป้าหมายในปี 2551 ตั้งไว้ 17 รายการ แบ่งเป็นกลุ่มยาต้านไวรัส 2 รายการ กลุ่มยารักษาโรคจำเป็น 13 รายการ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ 2รายการ ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้มีการปรับลดราคายาที่จำเป็นต่องานด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยในปี 2551 มีการประกาศลดราคายารวม 17 รายการ เป็นยาเอดส์ 8 รายการ ยาเบาหวาน 2 รายการ ยาโรคหัวใจและหลอดเลือด 4 รายการ และยากลุ่มเพนิซิลิน 3 รายการ โดยมีการลดราคาตั้งแต่ร้อยละ 10-45 รวมถึงการจัดหาและบริการผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อโรงพยาบาลให้มีความหลากหลาย เช่น น้ำยาล้างไต ข้อเข่าเทียม อุปกรณ์ทางการแพทย์ การสนองนโยบายการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) ในการจัดหายารับรองโครงการรวม 7 รายการ โดยคาดว่าในส่วนของยาต้านไวรัสอภ.สามารถที่จะผลิตทดแทนการนำเข้าได้ในเดือนมิถุนายนนี้

นพ.วิทิต กล่าวอีกว่า ด้านการพัฒนาองค์กรระยะยาว มีการวางแผนโครการก่อสร้างโรคงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก แล้วเสร็จในปี 2553 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ตามมาตรฐาน WHO-GMP เป้าหมายแล้วเสร็จในปี 2552 โดยจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 28 มี.ค.นี้

ด้านนายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมองค์การเภสัชกรรมว่า เรื่องคณะกรรมการบอร์ด อภ. หากไม่มีอะไรก็ให้ทำต่อไป นอกเสียจากว่าบริหารไม่ได้และเกิดปัญหา มีคณะกรรมการในบอร์ดลาออกเกินครึ่งก็ไม่สามารถทำงานได้ แต่ส่วนนี้ไม่ถึงก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้กดดันอะไรให้ต้องเปลี่ยนบอร์ดเลย ถ้าทุกอย่างทำงานต่อไปได้เพราะอยู่ภายใต้กฎระเบียบ สมมติว่าตนเองเปลี่ยนบอร์ดใหม่แล้วบริหารสู้บอร์ดเก่าไม่ได้จะทำอย่างไร การพิจารณาคนที่มีความรู้ความสามารถมาอยู่ต้องคำนึงถึงการบริหารงานด้วยเช่นกัน ขณะที่รัฐวิสาหกิจอื่นทำไปก็มีขาดทุนแต่ผลประกอบการของอภ.ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทุกปีก็รับได้ และพอใจ ในเมื่อทำดีแล้วก็ต้องสนับสนุน แต่ถ้าส่วนใดไม่ดีก็ต้องปรับปรุงให้มีกำไรเพิ่มขึ้นให้องค์กรมีชื่อเสียง

“ผลกำไรในการบริหารขององค์การเภสัชกรรมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ใช้ได้ แต่ที่มีปัญหาคือยากำพร้าที่ไม่มีเอกชนรายใดต้องผลิต แต่อภ.ต้องผลิตเพราะประชาชนยังคงต้องการใช้ยาเหล่านั้นอยู่ ซึ่งอภ.ก็ถือว่าไม่มองข้ามเรื่องรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ และต่อไปนี้หากนักวิทยาศาสตร์ไทย อภ.คิดค้นและผลิตยารักษาโรคมะเร็งเองได้ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้เราทำเองไม่ได้จึงมีปัญหาเกิดขึ้นจนต้องประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (ซีแอล) เมื่อผลิตได้เองทุกคนก็มีความสุข”นายไชยา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การเภสัชกรรมได้แสดงข้อมูลบริษัทยาที่ทำยอดขายสูงสุดในประเทศไทยปี 2550 10 อันดับแรกด้วย โดยอันดับ 1 บริษัท ไฟเซอร์ 7,748 ล้านบาท 2.ซาโนฟี่อเวนติส 4,902 ล้านบาท 3.บริษัท โนวาติส 3,800 ล้านบาท 4.บริษัท แอสตร้าเซเนก้า 3,668 ล้านบาท 5.บริษัท จีเอสเค 3,628 ล้านบาท 6.บริษัท โรช 2,762 ล้านบาท 7.บริษัท สยามเภสัช 2,662 ล้านบาท 8.องค์การเภสัชกรรม 2,500 ล้านบาท อัตราการเติบโตทางธุรกิจมากที่สุดถึง 29% 9.บริษัท เอ็มเอสดี 2,481 ล้านบาท 10.บริษัท เชอร์ริง 2,221 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น