xs
xsm
sm
md
lg

สสว. ดันความรู้ธรรมาภิบาล ปั้น SMEs สู่ตลาดหลักทรัพย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. จับมือ นิด้า สัมมนา “การยกระดับบรรษัทภิบาลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเข้าสู่ตลาดทุน” มุ่งสร้างความตระหนักและผลักดันให้เอสเอ็มอีนำหลักธรรมภิบาลไปใช้ในการบริหารธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสการแสวงหาแหล่งทุนในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ
ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังงานสัมมนา เรื่อง “การยกระดับบรรษัทภิบาลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อเข้าสู่ตลาดทุน” ซึ่ง สสว. โดยได้ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักและผลักดันให้เอสเอ็มอี สามารถนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารธุรกิจ รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพและต้องการขยายกิจการ ให้สามารถแสวงหาแหล่งเงินทุนได้ง่าย โดยเฉพาะในรูปแบบของการร่วมลงทุน และการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
“แหล่งเงินทุนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสินเชื่อจากธนาคาร การร่วมลงทุน ไปจนถึงการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น สิ่งที่นับเป็นปัจจัยสำคัญนอกเหนือจากเรื่องคุณลักษณะของผู้ประกอบการ โอกาสและศักยภาพของธุรกิจแล้ว ก็คือเรื่องธรรมาภิบาลในภาคเอกชน หรือเรียกว่าบรรษัทภิบาลนั่นเอง ซึ่งบรรษัทภิบาลที่ดี หมายถึงการบริหารจัดการธุรกิจด้วยความ ซื่อสัตย์ เป็นธรรม โปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ พนักงาน ลูกค้า รัฐบาล รวมถึงสาธารณชน แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ยังขาดความรู้ความเข้าใจในบรรษัทภิบาล ทำให้ขาดโอกาสในการแสวงหาแหล่งทุนที่ดี” ผอ.สสว กล่าว

ผอ.สสว. กล่าวต่อว่า การมีบรรษัทภิบาลจะช่วยให้เอสเอ็มอี สามารถแสวงหาแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในส่วนตลาดทุนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการร่วมลงทุน หรือการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งแหล่งทุนจากตลาดทุนนี้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยให้ผู้ประกอบการมีแหล่งทุนต้นทุนต่ำทำให้ขยายกิจการได้ตามที่กำหนด

สำหรับตลาดทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะกองทุนร่วมลงทุนใน SMEs นั้น ปัจจุบันมีทั้งกองทุนที่จัดตั้งและบริหารโดยภาครัฐ และกองทุนที่จัดตั้งและบริหารงานโดยภาคเอกชน สำหรับกองทุนที่จัดตั้งและบริหารโดยภาครัฐ ได้แก่ กองทุนร่วมลงทุนเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันของธุรกิจไทย ซึ่งบริหารงานโดย สสว. กองทุนร่วมลงทุน สสว. นี้ จะเข้าไปร่วมถือหุ้นในกิจการของ SMEs สัดส่วนร้อยละ 25-35 ของทุนจดทะเบียน วงเงินร่วมลงทุนรายละ 1-100 ล้านบาท ระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี โดยในปี 2551 สสว. ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าร่วมลงทุนกับ SMEs จำนวน 20 ราย วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็น SMEs ในกลุ่มพลังงานทดแทน ยานยนต์และแฟชั่น
กำลังโหลดความคิดเห็น